บางแสน ชลบุรี

163047073943

จ่อรับมือผู้ป่วยทะลุแสน

ติดโควิดพุ่ง 2.3 หมื่นราย  ตาย 38 คน สธ.​เผย 2 สัปดาห์ติดเชื้อเพิ่ม​ 2 เท่า เข้าสู่ช่วงโอมิครอนในไทยขาขึ้น​ ติดเชื้อสูงกว่าเดลตา ​แต่เสียชีวิต​น้อยกว่า​ 10 เท่า​ เตรียมรับมือจำนวนผู้ป่วยทะลุแสนคน เชื่อไม่ถึงขั้นล็อกดาวน์ ยกระดับ HI-CI ให้มีประสิทธิภาพ เล็งจัดพื้นที่โซนนิ่งให้เด็กสอบ

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 23,557 ราย ติดเชื้อในประเทศ 23,233 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 23,123 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 110 ราย มาจากเรือนจำ 96 ราย เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ 228 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 16,131 ราย อยู่ระหว่างรักษา 180,993 ราย อาการหนัก 905 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 240 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 38 ราย เป็นชาย 17 ราย หญิง 21ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 28 ราย มีโรคเรื้อรัง 9 ราย มีเด็กอายุ 7 ปี 1 ราย มีโรคประจำตัวมะเร็งเม็ดเลือดขาวและเบาหวาน 10จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดคือ กทม. 3,236 ราย, ชลบุรี 1,250 ราย,  สมุทรปราการ 994 ราย, นครศรีธรรมราช 899 ราย, นนทบุรี 875 ราย,  สมุทรสาคร 790 ราย, ราชบุรี 666 ราย, ภูเก็ต 645 ราย, ระยอง 642 ราย และนครราชสีมา 629 ราย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ความรุนแรงของโอมิครอนยังถือว่ารุนแรงน้อยกว่าเดลตา เป็นผลให้อัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำกว่าคาดการณ์ และภาพรวมการครองเตียงผู้ป่วยโควิดทั่วประเทศ ณ 22 ก.พ. 65 ทั้งผู้ป่วยวิกฤต และผู้ป่วยหนักต่ำกว่า 20% ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการไม่หนัก  ทั้งนี้ ไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการเปิดประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีมาตรการควบคุมโรคที่สมดุลและปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของโลก ทั้งนี้ โควิดยังคงเป็นโรคที่สามารถเข้ารับการรักษาในระบบ UCEP ได้เหมือนเดิม โดยโรงพยาบาลรัฐ หรือเอกชนไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้ โดยเป็นไปตามหลักกฎหมายและหลักมนุษยธรรม หากเตียงเต็มจะต้องมีการประสานงานเพื่อส่งต่อในระบบให้เร็วที่สุด  ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินและความพร้อมในการขยายศักยภาพโรงพยาบาลสนามได้ทันทีที่จำเป็น

 “ขอให้พี่น้องประชาชนได้มั่นใจว่าการปรับมาตรการต่างๆ ของ ศบค.ทุกครั้ง ทุกมาตรการ ล้วนมาจากหลักวิชาการ สถิติ แนวโน้ม และคำแนะนำของคณะแพทย์ที่ปรึกษา รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วน โดยจะพิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคและบริบทของสังคมไทย ที่ย่อมมีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ซึ่งเราได้นำเอาบทเรียนในอดีตและมาตรการของประเทศต่างๆ มาเป็นกรณีศึกษา และปรับให้เหมาะสมที่สุด โดยยึดเอาความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก ประกอบกับคำนึงถึงความสมดุลทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิต กิจกรรมต่างๆ ของสังคมไทย ที่มีความสำคัญทางจิตใจไม่แพ้กัน ซึ่งผมเชื่อมั่นในศักยภาพของบุคลากรด้านสาธารณสุข อสม. และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าของไทย รวมทั้งเชื่อว่าความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจของพี่น้องชาวไทย จะทำให้ประเทศไทยของเราเอาชนะสงครามโควิดในรอบนี้ ที่เชื่อว่าใกล้จะจบลงได้อีกครั้ง”

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้​อำนวยการ​กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยจะเป็นขาขึ้นของโอมิครอน ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นประมาณ 70% จึงต้องให้ความสำคัญกับผู้ป่วยอาการหนัก ปอดอักเสบ และต้องใส่ท่อช่วยหายใจ รวมถึงผู้เสียชีวิต ซึ่งในช่วง 2 สัปดาห์ เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า แต่พบว่าในประเทศไทยผู้ติดเชื้อจำนวนมากไม่มีอาการ และอาจไม่ได้รับการตรวจทั้งหมด แต่อัตราการเสียชีวิต​น้อยกว่าเดลตา ​10 เท่า จึงขอให้รีบเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง พร้อมกับคงระดับเตือนภัยระดับ 4 ทั่วประเทศ งดเข้าสถานที่เสี่ยงทั้งหมด หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่โดยเฉพาะการเดินทางที่ต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะ ทั้งนี้ ผู้ป่วยระลอกโอมิครอน ปอดอักเสบ 900 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 200 คน ขณะนี้มีผู้ป่วยวิกฤตไม่ถึง 20% ขณะที่ผู้ป่วยอาการน้อย ครองเตียงมากถึง 55.7%

นพ.จักรรัฐกล่าวอีก​ว่า​ มีคนสอบถามเข้ามามากว่าจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดจะเป็นอย่างไร ซึ่งยอมรับว่าคาดการณ์ค่อนข้างยาก แต่จากกราฟสถานการณ์ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และพุ่งขึ้นค่อนข้างเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากหลังตรุษจีนมีการผ่อนคลายมาตรการ หลายจังหวัด สายตื๊ดดื่มสุรา ยืนเต้นในสถานที่ปิดทึบไม่มีการระบายอากาศ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่สถานประกอบการอย่างเดียวแต่อยู่ที่ผู้ใช้บริการด้วย ซึ่งมีผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการจำนวนมากบางคนไม่รู้ตัวว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงแพร่เชื้อ

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในกลุ่มผู้ป่วยปอดอัดเสบที่เพิ่มชัดเจนคือสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มอีกหากไม่มีมาตรการป้องกันร่วมกับการฉีดวัคซีน ซึ่งในรอบการระบาดของโอมิครอน มีผู้สูงอายุที่ไม่ฉีดวัคซีน อัตราการเสียชีวิต 178 รายต่อ 1 ล้านคน ซึ่งต้องค้นหาผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้ฉีด 2.2 ล้านคน จาก 12.7 ล้านคน

ด้าน พล.อ.สุพจน์ มาลานิยมเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรีมีมติชะลอการปรับรูปแบบยูเซปออกไปว่า รอให้ สธ.เป็นผู้ชี้แจง ส่วนที่มีข้อสังเกตการจะปรับเงื่อนไขยูเซป มีส่วนเกี่ยวข้องกับงบประมาณนั้น เรื่องงบประมาณดูแลโควิดเราพิจารณาในภาพรวม แม้จะโหลด แต่ถ้าจำเป็นก็ต้องดำเนินการ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้พิจารณาในภาพรวม ให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนตัวเลขผู้ป่วยที่สูงขึ้น เรามีมาตรการออกมาอย่างต่อเนื่องและยุทธศาสตร์แก้โควิดเราก็พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เช่น เปิดให้ประชาชนได้กลับมาประกอบอาชีพ เพื่อให้เศรษฐกิจได้เดินหน้า แนวทางที่จะกลับไปล็อกดาวน์เหมือนช่วงแรกคงทำได้ยาก ยกเว้นจำเป็นอย่างที่สุด ซึ่งตนคาดว่าจะไม่เกิด

เมื่อถามว่ามีการเตรียมมาตรการหากผู้ติดเชื้อรายวันถึงแสนคนหรือไม่ พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า “มีครับ ตัวเลขการครองเตียงการติดเชื้อจะถูกประเมินทุกวัน ทำคู่ขนานเป็นเปอร์เซ็นต์ ขยับไปเรื่อยๆ แต่กว่าจะไปถึงสถานการณ์ตอนนั้นต้องมีมาตรการมากกว่านี้ เราคงไม่ได้สร้างโรงพยาบาลสนามรองรับคนเป็นแสนแน่ๆ สธ.คิดต่อเนื่องอยู่แล้ว ซึ่งการที่นายกฯ สั่งการคือให้เราเตรียมแผนรองรับ โดยเฉพาะการยกระดับระบบการรักษาตัวที่บ้าน และศูนย์พักคอยในชุมชนฮอสพิเทล โรงพยาบาลสนาม ซึ่งมีข้อขัดข้องบ้างเราก็แก้ไข ในส่วนของโรงพยาบาลหลักนั้น เราอยากให้ใช้รับรองผู้ป่วยที่อาการหน้าเป็นห่วง หรืออาการสีแดงให้ได้เข้าไปรักษา รวมถึงต้องกันไว้สำหรับโรคอื่นๆด้วย และต้องไม่กระทบกับบุคลากรสาธารณสุขที่เราต้องสงวนไว้แก้ไขปัญหาให้กับประชาชน รวมถึงให้หน่วยงานต่างๆ และพื้นที่ต่างๆ เพิ่มคู่สายของแต่ละหน่วยงาน

เมื่อถามว่า กรณี ศบค.ชุดใหญ่มีมติให้เด็กที่ติดเชื้อโควิดแต่อาการไม่มากสามารถเข้าสอบได้ พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า หัวใจสำคัญต้องโซนนิ่งแน่นอน สิ่งสำคัญที่จะให้เด็กเหล่านี้ไปสอบได้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงเรียนหรือสถานศึกษาต้องมีพื้นที่โซนนิ่งสำหรับผู้ติดเชื้อ และผู้มีความเสี่ยงสูง และต้องมีมาตรการตามที่สธ.แนะนำไป เช่น การเดินทางของผู้สอบที่ติดเชื้อต้องเป็นระบบปิดการเข้าห้องสอบต้องอยู่เฉพาะพื้นที่ที่ป้องกันอย่างดี อาการถ่ายเท สถานที่โอ่โถง มีระยะห่างเพียงพอ ซึ่ง สธ.ชี้แจงให้ทุกหน่วยเข้าใจหมดแล้ว

เมื่อถามว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อขาขึ้นที่เป็นอยู่นี้จะยืดเยื้อไปถึงช่วงสงกรานต์หรือไม่ พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า เราคาดหวังว่าเดือน มี.ค.ผู้ป่วยจะค่อยๆ ลดลง คงต้องเป็นสงกรานต์แบบโควิด ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข กำลังพิจารณาเรื่องนี้คาดว่า 1-2 สัปดาห์ข้างหน้าจะหยิบยกเรื่องนี้มาหารือแล้วแจ้งประชาชนให้ทราบ ปีนี้เราไม่ได้จำกัดการเดินทางประชาชนสามารถไปดูแลบุพการีได้ด้วยความระมัดระวังและตามมาตรการที่เหมาะสม ทำบุญได้แต่การฉลองในที่เสี่ยงก็ต้องงด.

เรื่องล่าสุด