บางแสน ชลบุรี

เดินหน้า Everyday Say No to Plastic Bags กำจัดขยะบก ก่อนลงสู่ทะเล

เดินหน้า Everyday Say No to Plastic Bags กำจัดขยะบก ก่อนลงสู่ทะเล

ทั่วไป

08 ก.พ. 2566 เวลา 14:39 น.48

รมว.ทส. เดินหน้าย้ำ!! โครงการ Everyday Say No to Plastic Bags ระยะ 2 “กรมทะเลชายฝั่ง” สานต่อนโยบายพร้อมดึงภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน กำจัดตัดตอนขยะบก ก่อนไหลลงสู่ทะเล

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศ โดยมีแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2570) และ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 เป็นเครื่องมือในการบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจะยกระดับการจัดการขยะให้ดียิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ ตนได้เน้นย้ำเสมอถึงการจัดการปัญหาขยะอย่างเป็นระบบ อันเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันระดมความคิด กำหนดกรอบแนวทาง และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการบริการจัดการขยะมูลฝอย พร้อมทั้งเดินหน้าสานต่อการจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 2 เนื่องจากในขณะนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายเริ่มกลับมาแจกถุงพลาสติกให้ผู้บริโภคอีกครั้ง ความพยายามของกระทรวง ทส. ในการรณรงค์โครงการ Everyday Say No to Plastic Bags กำลังกลายเป็นนโยบายไฟไหม้ฟาง อยากขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันดำเนินการตามแนวนโยบายดังกล่าว พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งบูรณาการปฏิบัติงานทั้งหน่วยงานภายในกระทรวงฯ และหน่วยงานภายนอกอย่างภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัคร และประชาชน เพื่อผสานความร่วมมือในการมีส่วนร่วมดำเนินการลด คัดแยกขยะจากต้นทาง ตลอดจนรณรงค์ลดการใช้วัสดุพลาสติกให้มีความต่อเนื่องและรายงานผลให้ทราบ เพื่อให้เกิดรากฐานของการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน 

เดินหน้า Everyday Say No to Plastic Bags กำจัดขยะบก ก่อนลงสู่ทะเล

 “ขยะบกจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอนาคต ซึ่งคิดมาเสมอว่าหากขยะเหล่านี้ไหลลงสู่ทะเล จะสร้างความเสียหายและผลกระทบอันร้ายแรงต่อระบบนิเวศทางทะเลมากแค่ไหน ดังนั้น กระทรวง ทส. จึงมีแนวคิดในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางก่อนจะไหลลงสู่ปลายทาง โดยมีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เริ่มต้นตั้งแต่ครัวเรือน ด้วยการใช้หลัก 3Rs คือ ใช้น้อย ลดปริมาณขยะให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด (Reduce) ใช้ซ้ำ หมุนเวียนใช้ใหม่ก่อนทิ้ง (Reuse) นำไปแปรรูป เพื่อมาใช้ใหม่ (Recycle) ที่สำคัญทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาขยะทะเล ชายหาดปลอดขยะ ทรัพยากรทางทะเลอุดมสมบูรณ์ ย่อมส่งผลดีต่อพวกเรา ลูกหลานของเรา และโลกของเราอีกด้วย ” นายวราวุธ กล่าว
     
ด้านนายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการขยะทะเลมาโดยตลอด พร้อมทั้งปฏิบัติตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด โดยกรม ทช. ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือดักขยะ เช่น บูมดักขยะ SCG-DMCR Litter trap รวมถึงเทคโนโลยีจากโครงการความร่วมมือ The Ocean Cleanup (TOC) และนวัตกรรมในต่างประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะในเชิงรุกมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาขยะทะเล ลดผลกระทบจากขยะทะเลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

เดินหน้า Everyday Say No to Plastic Bags กำจัดขยะบก ก่อนลงสู่ทะเล

นอกจากนี้ ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1-10 ลงพื้นที่ทำกิจกรรมเก็บขยะบริเวณชายฝั่ง ปากแม่น้ำ และในทะเล ทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและให้ความรู้ด้านการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี จากการรายงานการปฏิบัติงานในวันนี้ (8 กุมภาพันธ์ 2566) ได้มีการทำกิจกรรมเก็บขยะร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ เช่น สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 จัดเก็บขยะจากทุ่นกักขยะและเปลี่ยนซ่อมแซมทุ่นกักขยะที่ชำรุดเสียหายพร้อมเชือกมัดโยง ณ คลองบางโปรง ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี โดยร่วมกับเทศบาลเมืองแสนสุข และกลุ่มชมรมกู้ชีพทางทะเล ดำเนินการจัดเก็บขยะจากทุ่นกักขยะและคัดแยก ตามแบบฟอร์มบันทึกข้อมูล ICC Data Card ซึ่งพบขยะประเภท ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก ขวดแก้ว ขยะอื่นๆ และโฟม รวมน้ำหนักขยะที่เก็บได้ทั้งสิ้น 145 กิโลกรัม ส่วนขยะที่จัดเก็บได้นั้น ได้คัดแยกส่วนที่สามารถนำไปรีไซเคิล ส่วนที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้จะนำไปกำจัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ

เดินหน้า Everyday Say No to Plastic Bags กำจัดขยะบก ก่อนลงสู่ทะเล

 นอกจากนี้ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลตะโละกาโปร์ โรงเรียนบ้านท่าด่าน ผู้ประกอบการร้านค้าจำหน่ายอาหาร และประชาชนจิตอาสา จำนวน 120 คน ได้เก็บขยะที่ตกค้างในระบบนิเวศที่สำคัญแบบมีส่วนร่วม ณ บริเวณจุดชมเรือ หมู่ 3 บ้านท่าด่าน ตำบลตะโละกาโปร์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี โดยเก็บขยะได้ทั้งสิ้นจำนวน 594.50 กิโลกรัม ทั้งนี้ ได้คัดแยกประเภทขยะ ซึ่งมีขยะที่มีปริมาณมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ถุงพลาสติกอื่นๆ ถ้วย จาน โฟม และขวดเครื่องดื่ม (พลาสติก) พร้อมกันนี้ ได้ประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนในพื้นที่มีการจัดเก็บ และทิ้งขยะบริเวณที่จัดไว้ให้ เพื่อป้องกันไม่ให้ขยะไหลลงสู่ทะเลต่อไป
     
ทั้งนี้ กรม ทช. ยังคงเดินหน้าสานต่อโครงการ Everyday Say No to Plastic Bags พร้อมทั้งรณรงค์แจกถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในพื้นที่ 24 ชายฝั่งทะเล เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจและตระหนักถึงการลดการใช้พลาสติก รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้ถุงผ้าหรือวัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการมีส่วนร่วมจะเป็นเพียงจุดเล็กๆ ของการจัดการขยะทะเล แต่ตนมองว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างเครือข่ายเพื่อดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคต อีกทั้งเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงพลังของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเรียนรู้และการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางไปสู่ปลายทาง รวมถึงการดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหาขยะทะเล นำไปสู่การแสดงถึงจุดยืนและศักยภาพในการช่วยเหลือโลกให้ปราศจากขยะทะเลอันเป็นภัยร้ายทำลายทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลต่อไป นายอภิชัย กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องล่าสุด