บางแสน ชลบุรี

ศูนย์ ENMEC มทร.ตะวันออก ดาวเด่นพัฒนาบุคลากร “เมคคาทรอนิกส์” แห่งอีอีซี

ศูนย์ ENMEC มทร.ตะวันออก ดาวเด่นพัฒนาบุคลากร “เมคคาทรอนิกส์” แห่งอีอีซี

งานวิศวกรรม “เมคคาทรอนิกส์” ถือเป็นอาชีพที่ต้องการคนจำนวนมาก เพราะเป็นความรู้ของวิศวกรรมศาสตร์ 3 ด้านหลัก คือ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า และ วิศวกรรมการควบคุมอัตโนมัติ รวมถึงยังรวมศาสตร์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อการออกแบบ สร้างชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์ รองรับอุตสาหกรรม 4.0


การพัฒนาบุคากรด้านนี้นับว่ายากยิ่ง เนื่องจากต้องสร้างคนให้เก่งทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เรียนจริง ปฏิบัติจริง จบแล้วทำงานได้ทันที ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้ด้านเมคคาทรอนิกส์ (ENMEC) สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ (มทร.ตะวันออก) ถือเป็นศูนย์ผลิตคนเมคคาทรอนิกส์ ที่ได้รับการยอมรับในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ผลิตนักศึกษาป้อนให้กับอุตสาหกรรมชั้นนำ และเป็นหนึ่งในศูนย์เครือข่ายการพัฒนาบุคลากรเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC NETs) ภายใต้การสนับสนุนของ คณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC HDC

ENMEC

ทัศพันธุ์ สุวรรณทัต
อ.ทัศพันธุ์ สุวรรณทัต ประธานหลักสูตร วศ.บ.เมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์
ศูนย์ ENMEC เข้าร่วมเป็นเครือข่ายพัฒนาบุคลากรกับ EEC HDC เมื่อปี 2561 อ.ทัศพันธุ์ สุวรรณทัต ประธานหลักสูตร วศ.บ.เมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการประชุมสัมมนาศูนย์เครือข่ายการพัฒนาบุคลากรเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC NETs) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน 2565 ณ โรงแรมเคปราชา ว่า มทร.ตะวันออกเป็นสถาบันที่เน้นจัดการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาคี เมื่อ EEC HDC ต้องการผลิตบุคลากรด้านนี้ป้อนให้กับอุตสาหกรรม 4.0 ในพื้นที่ EEC ก็ถือว่าเป็นผนึกกำลังที่ลงตัว ทั้งรูปแบบ EEC Model Type A และ EEC Model Type B โดย EEC ให้งบประมาณการจัดซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์เพื่อใช้ในการเรียนการสอน เมื่อทำมาระยะหนึ่งก็พบว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะ EEC Model Type A มีบริษัทใหญ่ๆ ในพื้นที่ EEC เข้ามาร่วมทำสัญญา “ทวิภาคี” ออกแบบการเรียนการสอนร่วมกัน นำนักศึกษาไปปฏิบัติงานในโรงงานจริงๆ ให้เงินเดือนเหมือนพนักงานของบริษัท เมื่อเรียนจบก็รับเข้าทำงานทันที

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก

วิธีการคัดเลือกนักศึกษาเข้าสู่โครงการ EEC Model Type A ของศูนย์ ENMEC จะมีการตกลงกับบริษัทที่ต้องการทำทวิภาคีก่อนว่า แต่ละแห่งต้องการนักศึกษากี่คน เมื่อได้จำนวนที่แน่นอนแล้วก็จะเปิดรับสมัครนักศึกษาที่เรียนจบหลักสูตร ปวส.จากวิทยาลัยเทคนิคที่เป็นพันธมิตรในพื้นที่ EEC ซึ่งมีหลายแห่ง อาทิ  วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ วิทยาลัยเทคนิคบางแสน วิทยาลัยเทคนิคพัทยา วิทยาลัยเทคนิคระยอง วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด เป็นต้น โดยมีเงื่อนไขการรับสมัคร ประกอบด้วย
  • จบ ปวส.ช่างอุตสาหกรรม (ปวส.เมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ)
  • ผลการเรียนระดับ ปวส.ไม่น้อยกว่า3.0
  • ไม่มีภาระทางทหาร
  • หลักสูตรระยะเวลา 2 ปี โดยทุกปีจะเรียนและฝึกปฏิบัติงาน

“ยกตัวอย่างกรณี มทร.ตะวันออก ทำสัญญาร่วมกับ บริษัท เอสเอ็นซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้รูปแบบ EEC Model Type A โดยเอสเอ็นซีตั้งชื่อโครงการนี้ว่า “การพัฒนาช่างเทคนิคสู่วิศวกรตามความต้องการของเอสเอ็นซี” บรรจุทันทีตั้งแต่วันเซ็นสัญญารับทุน ให้ทุนเรียนฟรี 2 ปี เป็นพนักงานนักศึกษา มีเงินเดือน มีสิทธิสวัสดิการตามแรงงานทั่วไป เนื่องจากเอสเอ็นซีต้องการคนเก่งระดับ ปวส.จากวิทยาลัยอาชีวะ  แต่เด็กเก่งๆ ที่จบ ปวส.ส่วนมากอยากเรียนต่อ เพราะเขารู้ว่าตัวเองเรียนได้ อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกที่จบ ปวส.เขาอยากทำงานก่อนเพราะอยากหารายได้ช่วยครอบครัว แต่สุดท้ายเขาจะหาช่องทางออกไปเรียนต่อจนได้ ทางเอสเอ็นซีจึงมองว่า ถ้าอย่างนั้นก็เปิดโอกาสให้เขาเรียนระดับปริญญาไปด้วย ทำงานไปด้วย มีรายได้ระหว่างเรียน ซึ่งก็คือหักสูตร EEC Model Type A แบ่งเป็น จันทร์-พฤหัสปฏิบัติงานที่โรงงานเอสเอ็นซี ศุกร์-อาทิตย์เรียนที่ มทร.ตะวันออก นอกจากจะให้ทุนเรียนฟรีแล้ว ยังได้เงินเดือนระหว่างเรียน เฉลี่ย 20,000 บาทต่อคน เรียน 2 ปีจบปริญญาตรี รับเข้าทำงานกับเอสเอ็นซีเลย สตาร์ท 30,000-35,000 บาท ซึ่งรุ่น 1 เรียนจบไปแล้ว ปัจจุบันกำลังพัฒนารุ่นที่ 2 เพิ่งรับเข้ามาใหม่ เงื่อนไขการรับสมัครเหมือนเดิม แต่ว่าหลักสูตรการเรียนจะถูกดีไซน์ให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมของเอสเอ็นซีมากขึ้น คือเดือนพฤษภาคม-กันยายน เรียนที่มหาวิทยาลัยก่อน โดยให้นักศึกษาเรียนอย่างเข้มข้น จากนั้นเดือนตุลาคม-มีนาคม ปฏิบัติงานในโรงงานอย่างเดียวเลย มีอาจารย์เข้าไปประเมินช่วยเติมเต็ม เมื่อถึงช่วงปิดภาคฤดูร้อนก็แล้วแต่นักศึกษาว่าจะพักหรือจะเข้าโรงงาน หลังเรียนจบก็บรรจุเป็นพนักงานประจำ” อ.ทัศพันธุ์ เล่ารายละเอียด
เมคคาทรอนิกส์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก

เมคคาทรอนิกส์

อีกหลักสูตรที่ทำร่วมกับ EEC HDC คือ EEC Model Type B เริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 โดยหลักสูตรที่ มทร.ตะวันออกถนัดคือ ROBOT, CAD, IOT โดย EEC ให้งบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อจัดฝึกอบรมให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย รูปแบบ “คนละครึ่ง” คือ EEC จ่ายค่าอบรมให้ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งบริษัทที่ส่งพนักงานเข้ามาฝึกอบรมเป็นคนจ่าย ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากบริษัทต่างๆ ใน EEC ส่งพนักงานเข้ามาอบรม เนื่องจากเป็นหลักสูตรที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ แม้ในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ก็สามารถจัดอบรมได้ไม่น้อย คือ หลักสูตร Industrial Robotics 4 รุ่น 40 คน หลักสูตร CAD/CAM 4 รุ่น 40 คน รวมถึงยังมีโครงการฝึกอบรมชะลอการว่างงานฯ ปี 2564 ที่ มทร.ตะวันออกและสถาบันไทย-เยอรมัน จัดร่วมกัน 61 หลักสูตร 95 รุ่น จำนวน 2,555 คน ขณะที่ปี 65 ได้เริ่มโครงการแล้ว

เมคคาทรอนิกส์

นอกจากการพัฒนาบุคลากรด้วยระบบการเรียนการสอนยุคใหม่แล้ว ความโดดเด่นของ มทร.ตะวันออกอีกหนึ่งเรื่องคือ งานวิจัยและบริการวิชาการ Prototype Factory Innovation โดยความร่วมมือระหว่างมทร.ตะวันออก และ ภาคอุตสาหกรรม สามารถผลิตหุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่นราคาถูกให้กับโรงงานหลายแห่ง รวมถึงการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับที่ขับเคลื่อนด้วยระบบ 5G ต้องถือว่าเป็นสถาบันการศึกษาดาวเด่นแห่งอีอีซีอย่างแท้จริง

Post Views: 122

เรื่องล่าสุด