บางแสน ชลบุรี

1297982_1.jpg

ถอดบทเรียนซ้อมใหญ่ TeleATK ผ่าน'หมอพร้อม'โดยสภาเทคนิคการแพทย์ จากงานวิ่ง Bangsaen 21

การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 แม้จะสามารถจัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากได้ แต่ก็มีมาตรการควบคุมที่เรียกว่า Covid Free Setting โดยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 เป็นต้นมาก็มีการคลายข้อจำกัดการจัดกิจกรรมประเภทต่างๆ มาเป็นระยะ และตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เป็นต้นมา ก็เปิดให้จัดได้ทุกกิจกรรมตามความเหมาะสม ซึ่งข้อกำหนดสำคัญอย่างหนึ่งคือการให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแสดงใบรับรองผลตรวจ ATK หรือมีการบันทึกผลการตรวจ ATK ในระบบหมอพร้อม ซึ่งแม้จะเป็นความจำเป็นเพื่อป้องกันผลลบปลอมที่ทำให้เกิดการระบาดต่อเนื่อง แต่อีกด้านหนึ่งใบรับนรองผลการตรวจ ATK ซึ่งออกโดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ ประกอบด้วยโรงพยาบาล คลินิก ห้องแล็ป และร้านขายยา ก็เป็นภาระต่อประชาชน เนื่องจากต้องเดินทางในการไปตรวจ และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจ

การจัดงานวิ่งฮาล์ฟมาราธอน บางแสน 21 งานวิ่งใหญ่ระดับประเทศเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาก ซึ่งมีนักวิ่งเข้าร่วมกว่า 10,000 คน ก็มีข้อกำหนดให้ผู้เข้าร่วมต้องแสดงใบรับรองผลการตรวจ ATK หรือมีการบันทึกผลการตรวจ ATK ในระบบหมอพร้อม ซึ่งงานนี้นับเป็นก้าวสำคัญที่สภาเทคนิคการแพทย์ สมาคมเทคนิคการแพทย์ ได้เข้ามาให้บริการตรวจ ATK แก่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันผ่านระบบ Telemedicine ของ หมอพร้อม Line OA & Application แบบไม่คิดค่าใช้จ่าย เป็นการนำระบบ Telemedicine ของหมอพร้อมมาใช้เป็นครั้งแรก

ทนพ.วินัย นามธง นักเทคนิคการแพทย์ ผู้ประสานงานพัฒนาระบบหมอพร้อม เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบงานที่สำคัญในครั้งนี้ว่า ในฐานะนักวิ่งที่เข้าร่วมงานดังกล่าวทำให้ทราบว่ามีนักวิ่งจำนวนมากไม่เข้าใจการแสดงผลการตรวจ ATK ด้วยระบบหมอพร้อม จึงหารือกับ ทนพญ.สมจิตร์ จินาภักดิ์ เลขาธิการสภาเทคนิคการแพทย์ ซึ่งเข้าร่วมงานวิ่งครั้งนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักวิ่งที่เข้าร่วมงาน

“ทีม admin งานบางแสน 21 แจ้งให้นักวิ่งแสดงผลการตรวจผ่านหมอพร้อม แต่นักวิ่งต่าง งง ไม่รู้เรื่อง ทุกคนสับสน ทางสภาฯจึงประสานไปยังทีม admin ของงานวิ่งบางแสน และทางหมอพร้อมว่าระบบ TeleATK ที่เคยหารือกันไว้มีความพร้อมที่จะให้บริการครั้งนี้ ก็เริ่มงานกันเลย” ทนพ.วินัย เล่าถึงจุดเริ่มต้น

ในฐานะผู้ประสานงานพัฒนาระบบหมอพร้อมในส่วนของนักเทคนิคการแพทย์ ทนพ.วินัยเล่าถึงแนวคิดการพัฒนาระบบ TeleATK ว่า การตรวจ ATK ได้เปฃี่ยนจากผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ไปยังประชาชนทั่วไป ทั้งที่ผ่านการฝึกอบรมหรือดูคลิปจากสื่อออนไลน์ แต่อาจจะทำไม่ค่อยถูกต้อง ซึ่งอาจทำให้เป็นผลลบปลอมทำให้เกิดการระบาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้รวมทั้ง การเข้าถึงจุดตรวจ ATK ลดการเดินทางไปจุดตรวจ ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อแล้วอาจแพร่กระจายต่อไปได้ระหว่างเดินทาง ลดความแออัดตามหน่วยตรวจ ลดภาระค่าใช้จ่ายกรณีต้องการใบรายงานผลการตรวจไปใช้แสดงตามเงื่อนไขต่าง สภาเทคนิคการแพทย์ได้ร่วมมือในการพัฒนาระบบรายงานผลผ่านหมอพร้อมไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

ด้านทนพญ.สมจิตร์ จินาภักดิ์ เลขาธิการสภาเทคนิคการแพทย์ ในฐานะนักวิ่งที่เข้าร่วมงานบางแสน 21 และนำระบบตรวจ TeleATK เข้ามาอำนวยความสะดวกแก่นักวิ่งที่เข้าร่วมงาน เล่าถึงการดำเนินการว่า หลักเกณฑ์ของผู้จัดงานกำหนดว่า นักวิ่งจะต้องแสดงผลการตรวจ ATK ภายใน 24 ชั่วโมงก่อนรับหมายเลข (BIB) และอุปกรณ์การวิ่ง โดยแสดงผลผ่านแอพหมอพร้อม หรือใช้ใบรับรองผลการตรวจจากสถานพยาบาล คลินิก อนามัย หรือแล็ป

“เราเป็นพันธมิตรกับหมอพร้อมอยู่แล้ว มีเครือข่ายเทคนิคการแพทย์ที่สามารถออกใบรับรองผลได้ จึงแจ้งadmin ของงานว่ายินดีช่วยเหลือนักวิ่ง โดยเป็นเป็นอีกทางเลือก ทางผู้จัดก็ยินดี ทีมงานเทคนิคการแพทย์จึงเริ่มทำระบบ จะ mapping ให้เข้ากับหมอพร้อมได้อย่างไร มีเวลาแค่ 5 วัน ก็ให้ admin ทดสอบระบบ แอดมินก็แฮปปี้ว่าเขาอยากได้เพราะมีผู้ประกอบวิชาชีพโดยตรงมาดูให้กับนักวิ่งซึ่งมีความแม่นยำสูง วันแรกที่ทาง admin งานบางแสนประกาศไปมีผู้สมัครเข้ามาเกือบ 1,000 คน”

แม้จะมีการวางระบบเพื่อรองรับการตรวจไว้เป็นอย่างดี แต่เมื่อถึงเวลาจริงบททดสอบแรกคือจำนวนผู้มารับบริการน้อยกว่าที่แจ้งมาก ซึ่งเป็นผลมาจากระบบที่เตรียมไว้ยังไม่มีการแจ้งเตือนให้ผู้สมัครเข้ามารับบริการตามเวลาที่นัดหมาย

ทนพญ.สมจิตร์เล่าว่า จากผู้ที่แจ้งขอตรวจด้วยวิธี TeleATK จำนวนนับพันคน แต่มีผู้มาตรวจจริงประมาณ 400 คน เนื่องจากระบบที่เตรียมไว้ไม่มีการแจ้งเตือนไปยังผู้สมัคร โดยในวันแรกมีผู้จองขอรับบริการ 200 กว่าคน แต่มารับบริการเพียง 100 คน วันที่สองจึงโทรศัพท์ติดต่อกับผู้ที่จองไว้ ก็ได้ทราบข้อมูล

“นักวิ่งส่วนใหญ่เกรงว่าจะไม่มีหลักฐานอะไรไปแสดงตอนที่รับหมายเลขวิ่ง เมื่อระบบของเราไม่มีการแจ้งเตือน และเป็นการให้บริการฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ดังนั้นนักวิ่งที่ต้องการความมั่นใจจึงไปตรวจที่สถานพยาบาลหรือคลินิกแทน เอาชัวร์ไว้ก่อน อย่างน้อยไปโรงพยาบาลได้ผลแล็บแน่ ๆ เมื่อถามว่ายินดีจะเข้าระบบรับการตรวจตอนนี้เลยมั๊ย ก็โอเคเข้าระบบตรวจกันเลย อาจจะเป็นระบบใหม่ด้วยซึ่งต่อไปจะโปรโมทให้มากขึ้นว่านำผลไปใช้ได้จริง”

แม้จะมีผู้มาใช้บริการเพียง 400 คน เมื่อเทียบกับนักเทคนิคการแพทย์ที่เป็นจิตอาสาเข้ามาร่วมถึง 174 คน แต่งานนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการทดสอบระบบที่ถือเป็นก้าวใหม่ของระบบสาธารณสุข ในการให้บริการทางการแพทย์แบบ Telemedicine

ทนพญ.สมจิตร์อธิบายถึงวิธีการตรวจ TeleATK ที่นำมาใช้ในครั้งนี้ว่า เป็นการให้บริการทางไกลคล้ายซูม โดยระบบจะจับคู้ผู้ที่สมัครเข้ามากับนักเทคนิคการแพทย์แล้วส่งนัดไปในหมอพร้อม พร้อมทั้งแจ้งข้อปฏิบัติเช่น ชุดตรวจจะต้องไม่ถูกเปิดก่อน นักเทคนิคการแพทย์จะเห็นทุกขั้นตอน นักเทคนิคการแพทย์ที่มาทำเป็นจิตอาสาทั้งหมด ใช้เวลาว่างของตัวเองมาทำให้ ช่วงตั้งแต่ 07.00 น.ถึง 23.00 น. ใครว่างช่วงไหนก็มากดรับผู้ขอใช้บริการไป โดยใช้เวลาการตรวจรายละ 15 นาที

“เราเรียกว่าเอฟนะคะ เหมือนการสั่งอาหารผ่านแอพลิเกชั่น ถ้าลูกค้ามาแล้วสามารถแมปปิ้งนักเทคนิคกับผู้ขอรับบริการได้ง่าย ใครว่างก็มาเอฟงานไปได้เลย พยายามคุยกับหมอพร้อมว่าจะพัฒนายังไงดีให้ใช้งานจริงได้และง่าย สิ่งที่มีประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของระบบนี้คือการช่วยคลายข้อสงสัยให้กับประชาชน โดยนักวิ่งที่มาตรวจกับดิฉัน เขาก็ถามว่าซื้อตัวเทสนี้มามันโอเคมั้ย swab แบบตื้นต่างกับแบบลึกมั้ย ก็ได้พูดคุยกัน ไขข้อสงสัย นักวิ่งบางคนนำชุดตรวจที่ไม่ผ่านอย.มาให้เราทำ แต่เราก็ไม่ทำให้ เพราะระบบหมอพร้อมจะต้องบันทึกข้อมูลชุดตรวจด้วยตรวจ ก็แจ้งว่าไม่มีในระบบอย. เขาก็แจ้งเรามาเป็นของที่บริษัทนำมาใช้พนักงานใช้ตรวจ เราก็ช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวในแง่ของการใช้ชุดตรวจที่มีมาตรฐานการรับรอง”

หลังการปฏิบัติจริงและงานวิ่งครั้งนี้ผ่านไปแล้วผลตอบรับที่กลับมาทำให้เห็นสิ่วต่างๆ หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความพึงพอใจที่ค่อนข้างดี ได้รับคำชมเชยจากผู้จัดงานและนักวิ่งที่มาขอรับบริการ ตลอดจนปัญหาและสิ่งที่ต้องปรับปรุงพัฒนา รวมทั้งโอกาสที่จะทำให้ Telemedicine เกิดขึ้นได้จริง

“บางแสน 21 เป็นงานแรกของการีนำระบบนี้มาใช้ ช่วยลดการเดินทางมาตรวจ ประชาชนได้ประโยชน์ แต่เราก็พบอุปสรรคหลายด้านเช่นการ Mapping ระหว่างนักวิ่งกับนักเทคนิคการแพทย์ การแจ้งเตือนผู้รับบริการตามนัดหมาย รวมทั้งระบบวิดีโอคอลเพราะหมอพร้อมยังไม่มีกล้อง การทำงานครั้งนี้ผู้รับบริการจะต้องโหลดแอพลิเกชั่น Cammeet มาใช้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องหารือกับทีมหมอพร้อม แต่โดยกระบวนการทุกอย่างราบรื่นหมด เร็วด้วย ไม่ต้องเดินทาง ไม่เสี่ยงแพร่กระจายเชื้อ” ทนพญ.สมจิตร์กล่าว

เลขาธิการสภาเทคนิคการแพทย์บอกอีกว่า ในการประชุมคณะกรรมการสภาเทคนิคการแพทย์วันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ จะนำผลการปฏิบัติที่ผ่านมาในครั้งนี้รายงานต่อที่ประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน โดยหากมีผู้จัดงานรายใดต้องการใช้ระบบนี้ในการตรวจคัดกรองผู้เข้าร่วมงานก็ให้ติดต่อผ่านสภาเทคนิคการแพทย์ได้เลย

“ต้องเดินหน้าต่อไปเพราะเรามีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว ขณะนี้เรามีนักเทคนิคการแพทย์มาขึ้นทะเบียนเป็นจิตอาสาแล้วประมาณ 200 คนแล้ว ถ้า 1 ครั้ง 1 อีเวนท์ 200 คนที่มีอยู่ถือว่าเพียงพอทำตามกำลังที่สภาฯทำได้ ครั้งนี้เป็นโมเดลแบบหนึ่ง ทั้งการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน รวมทั้งการตรวจคัดกรองที่น่าเชื่อถือ มีการตรวจจริง ผลที่ออกมาเชื่อถือได้ เป็นการป้องกันการแพร่ระบาดได้ดี” เลขาธิการสภาเทคนิคการแพทย์กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาระบบ TeleATK ต่อไป

ระบบ TeleATK ซึ่งสภาเทคนิคการแพทย์นำมาใช้เป็นครั้งแรกนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะพัฒนาต่อไป เพื่อนำเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้ในการดูแลด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งผลที่ได้คือความสะดวกรวดเร็วของประชาชนผู้รับบริการและการพัฒนาระบบสาธารณสุขต่อไป

ภาพ : เพจ bangsaen 21

เรื่องล่าสุด