บางแสน ชลบุรี

10 วัน เพลิงไหม้ตึกย่านสำเพ็ง ผู้เสียหายยังรอเยียวยา

10 วัน เพลิงไหม้ตึกย่านสำเพ็ง ผู้เสียหายยังรอเยียวยา

เช้านี้ที่หมอชิต – ตีตรงจุด วันนี้ คุณปราโมทย์ คำมา พาไปติดตามความคืบหน้าเหตุการณ์ไฟไหม้อาคารพาณิชย์ที่ย่านสำเพ็ง เหตุการณ์ที่ยังคงเป็นความโหดร้ายของใครหลายคน วันนี้ผ่านมา 10 วันแล้ว ที่นั่นเป็นอย่างไร ผู้เสียหายที่เป็นเจ้าของอาคาร เจ้าของรถ คนที่อยู่แถวนั้นบางคนยังตกใจไม่หาย และที่สำคัญเรื่องนี้ การไฟฟ้านครหลวง รับผิดชอบอย่างไรบ้าง ติดตามกับ คุณปราโมทย์ รายงานเข้ามาจากตลาดสำเพ็ง

เหตุการณ์ไฟไหม้ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน เกิดความเสียหายทั้งอาคารพาณิชย์ ตึกที่เสียหาย และมีผู้เสียชีวิต ความคืบหน้าตอนนี้ เจ้าของยังรอความชัดเจนจาก กฟน. ว่าจะรับผิดชอบอย่างไร แต่ตอนนี้ยังไม่มีความคืบหน้าไปจากเดิม เบื้องต้น ได้มีการปรึกษาทนายความไว้แล้วว่าหากไม่ได้รับความเป็นธรรม จะมีช่องทางทางกฎหมายอย่างไรที่จะช่วยเหลือ

ส่วนรถยนต์ที่ถูกไฟไหม้พังเสียหาย มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณนราทิพย์ ที่วันนั้นมาจอดรถอยู่บริเวณนี้ บอกกับเราว่า ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการเคลมประกันภัยและติดต่อไฟแนนซ์ โดยรถยนต์ของเธอเป็นรุ่นฮอนด้าแจ้ส เพิ่งจะซื้อใหม่ เป็นรถยนต์คันแรก ผ่อนไปแล้ว 20 กว่างวด โดยค่างวดที่เหลือจะต้องดูว่าเคลมประกันภัยได้เท่าไหร่

ส่วนทาง กฟน. ก็ได้มีการติดต่อทราบว่าจะช่วยเหลือค่าเสียหายให้ปิดหนี้รถเช่นกัน แต่จะต้องตรวจสอบหลักฐานจากทางไฟแนนซ์และประกันอย่างละเอียดก่อน แต่เธอก็ยอมรับเลยว่าเสียใจมาก เพราะแม้ว่าจะไม่ต้องผ่อนรถต่อ แต่สุดท้ายก็ไม่เหลืออะไร ทั้งหมดที่ผ่อนมาก็สูญเปล่า

ต้นเหตุ คือ หม้อแปลง เกิดการระเบิดอย่างไรในวันนั้น เป็นหม้อแปลงรุ่นไหน ใช้งานอย่างไร ไปพูดคุยกับ อาจารย์บุษกร แสนสุข ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ

9 คำแนะนำจากมหาวิทยาลัยมหิดล ถึงการเสริมสร้างความปลอดภัย คือ 

1. ควรเปลี่ยนเป็นหม้อแปลงไฟฟ้าระบบ Dry Type ซึ่งปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่สามารถติดตั้งนอกอาคารบนนั่งร้านได้ แม้ราคาจะสูงกว่าหม้อแปลงไฟฟ้าระบบน้ำมัน แต่มีความปลอดภัยและคุ้มค่ากับการลงทุนในระยะยาว

2. ในพื้นที่ซึ่งมีความหนาแน่นของชุมชน การติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าที่ใกล้กับผนังอาคารสิ่งปลูกสร้างมากเกินไป ควรมีการติดตั้ง แผ่นกั้นกันไฟ ที่จะเข้าสู่อาคารจากเหตุหม้อแปลงระเบิดหรือไฟลุกไหม้ และไม่ควรใช้หม้อแปลงขนาดใหญ่เกินกว่า 250 kVA เพื่อลดความรุนแรงหากเกิดการระเบิดของหม้อแปลง

3. หม้อแปลงไฟฟ้าที่มีอายุเกิน 20 ปี ควรได้รับการบำรุงรักษาที่เร็วกว่ากำหนดและตรวจสอบเป็นพิเศษ ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีการดูแลปีละ 1 ครั้ง แม้อายุการใช้งานของหม้อแปลงจะกำหนดอยู่ที่ราว 25 ปี ก็ควรปลดระวางการใช้งานก่อนนั้น

4. ควรมีการเปลี่ยนน้ำมันหม้อแปลงเป็นระยะ ซี่งน้ำมันหม้อแปลงใช้เป็นฉนวนป้องกันการลัดวงจรภายในหม้อแปลงไฟฟ้าและเป็นตัวช่วยถ่ายเทระบายความร้อนระหว่างขดลวดภายในหม้อแปลงกับอากาศภายนอก น้ำมันซึ่งเมื่อเจอความร้อนสะสมเป็นเวลานานจะเกิดการเสื่อมสภาพ ทำให้ประสิทธิภาพในการเป็นฉนวนและถ่ายเทระบายความร้อนลดลงไป

5. พัฒนา ระบบเครือข่ายควบคุมอัจฉริยะและรายงานความปลอดภัยได้ 24 ชม. โดยทุกหม้อแปลงติดตั้ง Sensor ตรวจวัดอุณหภูมิของขดลวดและคุณสมบัติภายในของหม้อแปลงแบบเรียลไทม์ (Real Time) ประยุกต์เทคโนโลยีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) เพื่อส่งข้อมูลไปยังศูนย์ควบคุมของการไฟฟ้านครหลวง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแจ้งประชาชนบริเวณใกล้เคียงผ่านโทรศัพท์มือถือและเสียงไซเรนเตือนภัยที่หม้อแปลงได้ทันเวลา

6. ไม่ควรใช้งานหม้อแปลงไฟฟ้าเต็มพิกัดกำลัง มาตรฐานควรอยู่ราว 80% เช่น หม้อแปลงไฟฟ้าขนาด 500 kVA ควรใช้งานเพียง 400 kVA เพื่อความปลอดภัย

7. ควรกั้นรั้วหรือทาสีบริเวณพื้นและติดป้ายเตือนไม่ให้หาบเร่แผงลอยหรือประชาชนอยู่ใกล้หรือจอดรถบริเวณที่มีการติดตั้งหม้อแปลง และแสดงเบอร์โทรสายด่วนเพื่อติดต่อแจ้งเหตุต่อการไฟฟ้าอย่างชัดเจนติดอยู่ที่หม้อแปลง

8. ระมัดระวังไม่ให้สายสื่อสารหรือสายไฟอื่น ๆ ใกล้หม้อแปลงไฟฟ้าซึ่งอาจเป็นเชื้อเพลิงให้เกิดการลุกลามได้

9. ควรนำสายสื่อสารและระบบไฟฟ้าลงดินโดยเริ่มจากย่านธุรกิจ ชุมชนใจกลางเมืองที่มีประชาชนอาศัยหนาแน่น

เรื่องล่าสุด