บางแสน ชลบุรี

E0B980E0B881E0B8A3E0B8B5E0B8A2E0B887E0B984E0B881E0B8A3-1.jpg

ส.อ.ท. ลุยปี’66 ดึงเอสเอ็มอีร่วมเครือข่าย EPR รีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติกรับกติกาโลก

สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) ส.อ.ท. ปักหมุดปี66 บริหารบรรจุภัณฑ์พลาสติกสู่การรีไซเคิลทั้งระบบร่วมรัฐและชุมชน รองรับกติกาโลก เดินหน้าลดโลกร้อนและไทย อาจเตรียมออกเป็น EPR ภาคบังคับในปี พ.ศ. 2570 สกัดกระทบส่งออก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปี พ.ศ. 2566 สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) มีเป้าหมายที่จะขยายองค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติว่าด้วยหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility : EPR) ไปสู่ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (SMEs) ที่เป็นกลุ่มผู้ผลิตที่มีจำนวนมาก เพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายผ่านโครงการ Pack Back เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน มุ่งให้ผู้ผลิตรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อรองรับกับกฏระเบียบบังคับของการค้าโลกที่เข้มงวดในเรื่องดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เกิดจากภาวะโลกร้อน

“ทั่วโลกต่างวางเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยไทยวางไว้ในปี พ.ศ. 2608 เพื่อลดโลกร้อน ทำให้วันนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องที่ซีเรียสและกลายเป็นการกีดกันการค้าในรูปแบบใหม่ เช่น สหภาพยุโรป (อียู) ออกระเบียบให้ประเทศสมาชิกจะต้องเข้าร่วมโครงการ EPR และปี พ.ศ. 2573 บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดในตลาดอียูต้องสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้ ส่งผลให้ไทยเองก็จะต้องปรับกติกาและคาดว่า EPR ของไทยจะเป็นภาคบังคับในปี พ.ศ. 2570 เวลาที่เราเหลือ 5 ปีนี้ จึงต้องเร่งให้ความรู้และการปฏิบัติให้ครอบคลุมทุกส่วนการผลิตเพราะไทยมีการส่งออกคิดเป็น 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)” นายเกรียงไกร กล่าว

ทั้งนี้ ส.อ.ท. โดย TIPMSE เป็นองค์กรหลักของภาคเอกชนที่ขับเคลื่อน EPR ไปสู่แนวทางการปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้เริ่มต้นศึกษาหลักการ EPR เมื่อปี พ.ศ. 2564 ผ่านโครงการ Pack Back เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาได้กำหนดไว้ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรกศึกษาเพื่อเรียนรู้หลักการ EPR ที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย ศึกษาข้อมูลโครงสร้างที่จะรองรับแนวทาง ระยะสองสำรวจ เพื่อสร้างโมเดล จัดทำฐานข้อมูล และสร้างการสื่อสารผ่านการจัดกิจกรรมสัมมนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมออกแคมเปญต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจ และเกิดความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ และระยะที่สาม เพื่อพัฒนาสู่กฎระเบียบข้อบังคับ ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มที่จะดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อรองรับกติกาที่จะเปลี่ยนแปลงไป

บทบาทของ ส.อ.ท. จะเป็นตัวกลางของภาคเอกชนในฐานะของผู้ผลิต และจะหารือร่วมกับภาครัฐผ่านรูปแบบคณะขับเคลื่อน EPR เพื่อประกาศกติกาภาคบังคับให้ผู้ผลิตมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่จะนำไปปรับใช้ในอนาคต และสร้างความเข้าใจ ให้ความรู้ไปยังสมาชิก พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อรับฟังปัญหาและอุปสรรค เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงโดยเฉพาะปัญหาของแต่ละพื้นที่ ที่มีบริบทที่แตกต่างกัน แต่สิ่งเหล่านี้ผู้ผลิตต้องปรับตัวและเตรียมพร้อม ก่อนแผนผลิตสินค้าใดๆ ออกมา ไม่ใช่เพียงแค่ผลิตสินค้าที่ราคาถูกที่สุด ใช้แหล่งพลังงานที่ถูก แต่ต้องเน้นคุณภาพตามมาตรฐาน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นต่อไปนี้ “ของถูก” ไม่ได้แปลว่าขายได้แล้ว

“ปลายเดือนธันวาคม 2564 TIPMSE ได้ร่วมมือกับ 50 องค์กรภาครัฐและเอกชน ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้รวบรวม โรงงานรีไซเคิล เทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึง และเทศบาลตำบลเกาะสีชัง นำรูปแบบของ EPR มาปรับใช้ เพื่อจัดการกับบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วในพื้นที่นำร่องจังหวัดชลบุรี ภายใต้ โครงการ Pack Back เพื่อให้บรรจุภัณฑ์หมุนเวียนกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ส่งผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้เรามีเครือข่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือครั้งนี้ไม่เพียงรับมือกติกาโลก แต่ยังแก้ไขปัญหาขยะให้กับไทยเพื่อคัดแยก และนำกลับมาใช้ให้ถูกต้องสอดรับกับ BCG Model ของรัฐบาลอีกด้วย” นายเกรียงไกรกล่าว

เรื่องล่าสุด