บางแสน ชลบุรี

163047073943

'มานิ'กับอุทยานธรณี Satun Geopark

เรื่อง จิตติมา ผลเสวก
ภาพ ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

“บางทีเราอาจจะไม่ได้สังเกต หรือสายตาเรายังไม่คุ้นเคยกับผืนป่าดีพอ กว่าจะเห็นว่ามีพวกเขาอยู่ด้วยก็ต่อเมื่อเขาส่งเสียงบางอย่างให้รู้”

อดีตสหายที่เคยใช้ชีวิตในป่าเทือกบรรทัดผู้เคยพบเจอชนเผ่ามานิ ย้อนเล่าความหลังครั้งเก่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่ยังคงความอัศจรรย์ใจ แม้เวลาจะผ่านมานานหลายสิบปี ดังว่าม้วนฟิล์มภาพเก่ากรอกลับมาฉายชัดอีกครั้ง

“ไม่ได้ยินแม้แต่เสียงย่ำใบไม้”

มานิเดินย่ำป่าด้วยตีนเปลือย หรือจะว่าไปแล้วเรือนร่างพวกเขาแทบจะเปลือยเปล่า คนที่เคยพบเจอมานิสมัยก่อนบอกว่ามีเพียงใบไม้ปกปิดอวัยวะสำคัญ ประหนึ่งว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของป่า และป่าก็เป็นส่วนหนึ่งของเขา ไม่มีสิ่งใดมาขวางกั้นปกปิดระหว่างเนื้อหนังกับต้นไม้ใบหญ้า ระหว่างลมหายใจกับสายลมป่าที่โบกโบย ระหว่างน้ำในกายกับสายน้ำลำธาร

ป่าไม่ได้เป็นแค่ป่า สำหรับชาวมานิป่าคือบ้านและทุกสิ่งเท่าที่ชีวิตมี เขาเป็นผู้สร้างอารยะแห่งป่าของตนเอง

มีผู้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มชนมานิให้ค้นหามาอ่านมากมาย ย้อนไปในยุคนักวิชาการประชาชนคนสำคัญอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ ก็เขียนถึงชื่อเรียกชาวมานิไว้ในหนังสือ ”ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นงานวิชาการชิ้นสุดท้ายของจิตรที่ค้นคว้าและสันนิษฐานที่มาของคำเรียกชื่อผู้คนกลุ่มต่างๆในสุวรรณภูมิ แม้กระทั่งที่มาของชื่อสยามและไทย ที่แสดงให้เห็นความเป็นส่วนหนึ่งเดียวกันของภาษา วัฒนธรรม วิถีชีวิต และภูมิศาสตร์ ซึ่งนักวิชาการรุ่นต่อๆมาใช้อ้างถึงอยู่เนืองๆ

จิตรเขียนถึงคำเรียกมานิโดยสรุปว่า พวกเขามีชื่อที่คนอื่นเรียกหลายชื่อ อาทิ เซมัง ซาไก เงาะป่า ออรังอัสรี ตามความเข้าใจที่รับรู้สืบมา แต่เจ้าตัวชอบให้เรียกพวกเขาว่า มานิ หรือมันนิ อันแปลตรงๆได้ว่าคนอยู่ป่า

ส่วนพวกเขามักเรียกคนอื่นๆว่า ฮามิ

มานิหรือมันนิ Maniq มีที่พำนักอยู่ในป่าบนเทือกภูบรรทัด ในเขตจังหวัดตรัง สตูล สงขลา และพัทลุง กับเทือกเขาสันกาลาคีรีชายแดนมาเลเซีย ในเขตสามจังหวัดภาคใต้ กลุ่มนี้จึงมีนามเรียกว่าออรังอัสรี ตามคำเรียกของมาเลเซียที่บัญญัติขึ้นโดยประเทศอังกฤษที่เข้ามาเป็นเจ้าอาณานิคมในยุคนั้น

มานิมีป่าเป็นบ้านและทุกสิ่งในชีวิต พวกเขาเลือกที่อยู่ที่มีตาน้ำซึมซับไม่แห้งเหือด ซึ่งต่อมาพื้นที่เหล่านั้นกลายเป็นต้นน้ำให้คนเมืองผู้มาอยู่ทีหลังได้ใช้ กลายเป็นน้ำตกสวยงามให้นักท่องเที่ยวมาชื่นชม ครั้นป่าไม้กลายเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ การสัมปทานป่า การเกษตรอุตสาหกรรม อีกทั้งธุรกิจท่องเที่ยวธรรมชาตินิยมได้รุกคืบเข้าไปในป่า ทำให้ผืนป่าถูกทำลายกลายเป็นอื่น ต่อมาเมื่อมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ เขตป่าสงวน และกติกาต่างๆในข้ออ้างของทางการว่าเพื่อรักษาป่า และต้องไม่มีคนอยู่ในป่า การผลักดันคนออกจากป่าจึงเกิดขึ้นทุกหย่อมแห่ง

มานิเป็นกลุ่มคนอยู่ป่ากลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เมื่อวันหนึ่งลืมตาตื่นในเพิงทับที่เคยอยู่อย่างแสนสุข พบว่ารอบข้างที่เคยรกครึ้มด้วยต้นไม้ป่ากลายเป็นที่โล่งและทดแทนด้วยสวนยางสวนปาล์ม

ยิ่งโลกพัฒนาสู่อุตสาหกรรมที่หวังผลเป็นตัวเลขทางการเงิน ทรัพยากรธรรมชาติยิ่งถูกครอบครองเป็นเจ้าของโดยทุนใหญ่ เมื่อภูเขาถูกตีค่าเป็นแร่ธาตุที่ผันเป็นตัวเลขงามๆในธนาคาร ภูเขาในสายตาของนักลงทุนจึงมีแต่สีของธนบัตรแปะเต็มพรืด ขณะที่ภูเขายังมีเรื่องของประวัติศาสตร์ โบราณ ร่องรอยความเป็นอยู่ของคนโบราณ

และยังมีชาวมานิที่อาศัยอยู่กับป่าเขามาเนานาน

จังหวัดสตูลเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการประกาศเป็นอุทยานธรณีโลก(Satun Geopark) ครอบคลุมพื้นที่อำเภอทุ่งหว้า มะนัง ละงู และอำเภอเมือง ด้วยภูมิศาสตร์ที่เต็มไปด้วยภูเขาหินปูน เกาะน้อยใหญ่ในทะเล อันมากด้วยชั้นหินอายุนับหลายร้อยล้านปี ที่พิสูจน์ทางธรณีวิทยาแล้วว่ามีคุณค่ามหาศาลต่อมวลมนุษย์โลก สมควรต่อการที่ยูเนสโกจะเข้ามาประกาศรับรองให้มีความสำคัญตามกระบวนการของ UNESCO Globat Geoparks

จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ธรณี บอกว่าดินแดนแห่งนี้ใช้เวลานับล้านล้านปี กว่าที่กลไกธรรมชาติจะสร้างอ็อกซิเจนให้สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่ได้ กว่าที่เปลือกโลกจะยกตัวเป็นภูเขาและถ้ำซึ่งเป็นที่อยู่ของมนุษย์ยุคแรกเริ่ม ดังที่มีโบราณวัตถุ ภาพเขียนสีตามผนังถ้ำเป็นร่องรอยหลักฐาน ถ้าจะว่าไปมนุษย์โบราณที่เคยอยู่ตามถ้ำเขาลำเนาป่า ก็คือผู้คนซึ่งสร้างรากฐานชีวิตให้แก่ชาวสตูลรุ่นทุกวันนี้นั่นเอง

ชนเผ่าผู้เรียกตัวเองว่ามานิหรือมันนิ ก็น่าจะเป็นชนกลุ่มที่สืบทอดและจำลองแบบความเป็นอยู่ดั้งเดิม เป็นกลุ่มสุดท้ายที่ยังมีลมหายใจ ณ ดินแดนแห่งนี้

เม็กกะโปรเจ็คสัมปทานเหมืองที่ต้องระเบิดภูเขาในเขตอุทยานธรณีสตูล รวมถึงภูเขาที่แม้ไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานธรณีทว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อน ทั้งในแง่การเป็นทรัพยากรธรรมชาติส่วนรวม ระบบนิเวศสำคัญ ที่ผู้คนพื้นบ้านได้อาศัยมีชีวิตสืบรุ่นต่อๆกันมา

โดยเฉพาะชาวมานิผู้อยู่มาก่อนอย่างเป็นหนึ่งเดียวกับผืนป่าผาหินและสายน้ำ

คำบอกเล่าที่ว่าพวกเขาย่ำเดินในป่าอย่างเงียบกริบ ไม่ได้ยินกระทั่งตีนย่ำใบไม้ เป็นสิ่งที่น่าทึ่งและหวั่นกังวลว่าสักวันรอยเท้าเงียบกริบนั้นคงจะถูกกลบหายอย่างไม่หลงเหลือใด

ขอบคุณ ผู้ให้ข้อมูลมานิ คุณสุทธิรัตน์ วัตตธรรม
ผู้จัดเสวนาเชิงวิพากษ์ อุทยานธรณีโลกสตูล ภัยคุกคามและข้อเสนอของภาคประชาชน
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

เรื่องล่าสุด