“ที่นี่มีอะไรบ้างเหรอคะ”
“ก็มีทั้งร้านสัก ห้องเรียนโยคะ พื้นที่จัดนิทรรศการหมุนเวียน ห้องพีลาทีส สตูดิโอถ่ายภาพ แกลเลอรี ร้านกาแฟ ห้องเก็บงานศิลปะ รับทำกรอบรูป ห้องล้างฟิล์ม ฯลฯ”
จอม – ธัญญวีร์ ไชยนาพงษ์ ร่ายยาวด้วยรอยยิ้มถึงสารพัดกิจกรรมที่เกิดขึ้นใน When Life Gives You Lemons บ้านสีขาวอายุกว่า 50 ปีที่ถูกชุบชีวิตขึ้นใหม่ ให้กลายเป็นสเปซที่มีชีวิตชีวาที่สุดแห่งหนึ่งในย่านบางพลัด-บางอ้อ
“เราเป็นคนบางพลัด แต่ที่ผ่านมาเราแทบไม่รู้จักย่านนี้เลย จนพอเริ่มเข้ามารีโนเวทบ้านหลังนี้ และค่อยๆ เจอคนที่มีความชอบคล้ายๆ กันด้านศิลปะมารวมตัวกัน เราเลยอยากดึงดูดผู้คนให้มาที่นี่ เพราะโดยส่วนตัวเองก็คิดนะว่าทำไมทุกครั้งเวลาจะไปทำอะไรเก๋ๆ ต้องเข้าเมืองไปอารี ทองหล่อ เอกมัย เรื่องของเรื่อง คือ เราขี้เกียจข้ามแม่น้ำ (หัวเราะ) ขี้เกียจไปไกลบ้าน เลยคิดว่าเราน่าจะทำให้คนอยากมาเที่ยวบางพลัดบางอ้อได้”
อดีตนักศึกษาสถาปัตย์เล่าถึงอินเนอร์ในตัวเอง ที่เมื่อมารวมกับปัจจัยสำคัญอย่างการได้รับมอบหมายจากคุณป้าให้รีโนเวทบ้านหลังนี้ ซึ่งเดิมเคยปล่อยเช่าเป็นที่ทำการสำนักงานมานานปี เป้าหมายในการปั้นบางพลัดบางอ้อให้เป็นย่านสร้างสรรค์ก็ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นทีละน้อย
บ้านเก่าที่ไม่แก่ไปตามกาล
“คุณป้าซึ่งเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้ปล่อยบ้านให้เช่ามาโดยตลอด ซึ่งผู้เช่าก็ไม่ได้ทำอะไรกับโครงสร้างหลักของบ้าน แค่ต่อเติมพื้นที่บางส่วนให้เหมาะกับการเป็นออฟฟิศให้สามารถรองรับคนจำนวน 30-40 ชีวิต พื้นที่ภายในบ้านเลยมีการกั้นโซนออกเป็นหลายโซน และมีห้องน้ำหลายห้อง ส่วนโครงสร้างเดิมของบ้านอย่างเสา พื้นไม้ และผนังยังเป็นของดั้งเดิมเมื่อแรกสร้างบ้านหลังนี้ขึ้นเมื่อกว่า 50 ปีมาแล้ว
“พอเราได้รับมอบหมายให้มารีโนเวทบ้าน ก็เริ่มจากการรื้อฝ้าออกเพื่อเช็กโครงสร้างว่ามีตรงไหนพังบ้าง ปรากฏว่ายิ่งเปิดพื้นที่ ก็ยิ่งเห็นความสวยของบ้าน โดยเฉพาะด้วยความที่ผู้เช่าในยุคนึงนิยมปูพื้นด้วยกระเบื้องยางและเสื่อน้ำมัน ทำให้พื้นไม้ได้รับการปกป้องไปในตัว จึงยังคงสภาพดีเหมือนใหม่ และผู้เช่ายังกั้นผนังแบบ Double Wall ผนังเดิมของตัวบ้านจึงยังคงสภาพดีเหมือนเดิม และด้วยความที่บ้านหลังนี้มีคนอยู่ตลอดเลยไม่มีปลวกและไม่โทรม เพราะมีการเปิดประตูหน้าต่างระบายอากาศอยู่ตลอด ซึ่งเป็นการถนอมเนื้อไม้อย่างดี” จอมเล่าถึงเบื้องหลังความสวยมีเสน่ห์ของบ้านเก่าที่ไม่แก่ไปตามกาลหลังนี้ ที่มาพร้อมฟังก์ชันในการรองรับหลากหลายกิจกรรม
“นอกจากจะให้รีโนเวทบ้านแล้ว คุณป้ายังพูดมาคำนึงว่า หาผู้เช่าให้ด้วย หรือถ้าจอมสนใจก็ลองดูก่อนสิว่าอยากทำอะไร ทำให้เรามองเห็นภาพอะไรบางอย่างของที่นี่ ซึ่งสเปซดีมาก เป็นแกลเลอรีก็ได้ เป็นร้านกาแฟก็ดี และเราก็ชอบงานไม้อยู่แล้ว เราเลยอยากเห็นภาพอย่างที่มันเป็นในทุกวันนี้”
ทั้งหมดที่ว่ามาคือเรื่องราวของเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งจอมกับ ‘บ้านเลมอน’ หลังนี้ก็ร่วมทุกข์ร่วมสุขผ่านหลายเหตุการณ์มาด้วยกัน รวมถึงการมีหลากหลายตัวละครเข้ามาร่วมสร้างสีสันให้ When Life Gives You Lemons มีชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น
เมื่อชีวิตส่งเลมอนมาให้
“ที่นี่เปิดตัวในจังหวะที่จะเรียกว่ายากก็ยาก จะเรียกว่าโชคดีก็ได้” จอมเล่าต่อถึงฉากแรกของ When Life Gives You Lemons ที่เปิดเป็นแกลเลอรีและร้านกาแฟสมความตั้งใจ โดยเจ้าตัวลาออกจากงานประจำแล้วไปเรียนชงกาแฟเสร็จสรรพเพื่อเป็นบาริสตาเต็มตัว แต่กลับต้องพบเจอสถานการณ์ไม่คาดคิดหลังจากเปิดร้านได้ไม่นาน นั่นก็คือ วิกฤติการณ์โควิด -19 ระบาดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก
“ตอนนั้นเปิดร้านกาแฟข้างหน้าบ้าน และในบ้านเปิดเป็นแกลเลอรีจัดแสดงงานของ ตุ่ย – ทรัพย์มณี ชัยแสนสุข ศิลปินแนว Abstact หลังจากนั้นเพื่อนๆ ศิลปินท่านอื่นก็สนใจสเปซนี้มาก ต่อคิวรอจัดงานอีกประมาณ 4 คิว แล้วพอจะจัดงานก็มีประกาศล็อกดาวน์เมือง ซึ่งเป็นสถานการณ์ใหม่ที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะยืดเยื้อยาวนานกี่ปี ดังนั้น ศิลปินจึงยกเลิกคิวแสดงงานทั้งหมด รวมถึงอีกหลายรายที่คนสนใจเช่าที่นี่เป็นออฟฟิศสถาปนิกบ้าง ทำเป็นบาร์ลับบ้าง ก็หายไปกับการล็อกดาวน์หมดเลย”
หากยังจำกันได้ หนึ่งในกิจกรรมยอดนิยมช่วงล็อกดาวน์ในปีโควิดที่หนึ่ง ได้แก่ การเล่นเซิร์ฟสเก็ต ซึ่งจอมเองก็เป็นหนึ่งคนที่หลงใหลกีฬาชนิดนี้และอยากเล่นทุกวัน ดังนั้น เมื่อมองไปมองมาเห็นพื้นที่หน้าบ้านที่ก็กว้างขวางมากพอจะเป็นลานสเก็ตได้
คิดได้ดังนั้น ลานเซิร์ฟสเก็ตก็ถูกเนรมิตขึ้นหน้าบ้านเลมอน และทันทีที่ลงประกาศบนหน้าเพจของร้านว่าที่นี่เปิดเป็นคาเฟ่เซิร์ฟสเก็ต บรรดานักเซิร์ฟสเก็ตก็จองคิวมาเล่นกันอย่างคับคั่ง
“ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีใครเปิดคาเฟ่เซิร์ฟสเก็ต เลยมีคนจองคิวมาเล่นเยอะมาก เราเปิดสนามช่วงเย็นวันละสองรอบ รอบละสิบคนก็เต็มทุกรอบ แล้วก็มีโรงเรียนสอนเซิร์ฟมาเปิดด้วย แต่พอทำไปได้สักพัก เกิดโควิดอีกระลอกก็ต้องล็อกดาวน์อีก ทุกอย่างก็หยุดชะงักอีกรอบ
“รอบนี้เรานั่งนิ่งๆ เพื่อทบทวนถึงความไม่แน่นอนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ ถ้าเกิดโควิดอีก หรือเกิดสงครามล่ะ ดังนั้น เราควรจะอยู่กับอะไรที่เราไม่มีวันทิ้งมันแน่ๆ อย่างเซิร์ฟสเก็ตถามว่าชอบไหม ชอบ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นกระแส วันนี้เราก็อาจจะไม่ได้เล่นแล้ว แต่ก็โชคดีที่วันนั้นเปิดคาเฟ่เซิร์ฟสเก็ต เพราะทำให้ หมอมาร์ค (นพ. มารุต มาเลิศ) ซึ่งรู้จักกันมาเป็นสิบปีแล้ว เขาเข้ามาเล่นสเก็ตแล้วถูกใจพื้นที่ตรงนี้ และคิดว่าน่าจะทำอะไรได้อีกเยอะ เช่น เวิร์คช้อปงานไม้ เพราะเราทั้งคู่ชอบงานไม้กันอยู่แล้วเลยชวนกันทำโปรดักต์ไม้ ช่วงที่ปิดร้านไปรอบนั้นเลยเริ่มสะสมอุปกรณ์เครื่องมือ จัดมุมต่างๆ ในร้านจนมีหน้าตาคล้ายปัจจุบันนี้มากที่สุด” จอมเล่าถึงหุ้นส่วนร้านคนสำคัญอย่างนายแพทย์ผู้รุ่มรวยด้วยงานอดิเรกหลายแขนง ที่เข้ามาเป็นจิ๊กซอในการประกอบร่างเวิ้งเลมอนให้ครบรสด้วยนานากิจกรรม
This is Mad Frame
“อย่างที่บอกว่าเรากับคุณหมอชอบอะไรคล้ายๆ กัน เช่น งานเซรามิค งานไม้ ต้นไม้ ก็เลยลองเปิดมุมเล็กๆ ทำดู คุณหมอเอาเครื่องเสียงกับแผ่นไวนิลที่สะสมมาลง เอาของสะสมที่เป็นงานไม้มาแต่งร้าน แล้วถ่ายรูปลงเฟสบุ๊ก และจัดอีเวนต์เปิดตัวร้าน ทำให้มีคนรู้จักมากขึ้นและหมุนเวียนเข้ามาติดต่อเช่าพื้นที่”
สำหรับมุมของคุณหมอมารุตที่แวะเวียนมาเปิดแผ่นเสียงในแนวดนตรี City Pop เป็นประจำทุกวันเสาร์นั้น เปิดเป็นร้านรับเข้ากรอบรูปไม้ในชื่อ This is Mad Frame เพื่อให้บริการแก่ผู้ที่อยากเก็บรักษาภาพวาดหรือภาพถ่ายไว้ในกรอบรูปเพื่อคงคุณภาพไว้ให้นานที่สุด ผ่านการเลือกกระดาษและกระจกที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น กระจกตัดแสง กระดาษกันกรด ฯลฯ โดยคุณหมอมีดีกรีผ่านการอบรมเรียนรู้การทำกรอบรูปและเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการของ Fine Art Trade Guild ประเทศอังกฤษ จึงมีความชำนาญและรักในศาสตร์นี้อย่างลึกซึ้ง
นอกจากนี้ โซนด้านนอกร้านที่เรียงรายด้วยไม้ตระกูลบอนไซและไม้อวบน้ำก็เป็นอีกหนึ่งงานอดิเรกของคุณหมอที่พร้อมจำหน่ายให้คนรักต้นไม้ได้ซื้อติดมือกลับไปดูแลต่อที่บ้านเช่นกัน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง IG : euphoriaandmore
“คุณมี่ – ปาณิสรา ชมภูเพชร ที่เป็นช่างสักก็รู้จักเราจากตอนจัดงานโอเพ่นเฮ้าส์เหมือนกัน เมื่อก่อนคุณมี่รับสักตามคอนโด โดยมีเครือข่ายเพื่อนช่างสักที่ทำงานในลักษณะนี้เหมือนกัน พอลูกค้าเริ่มเยอะเลยต้องการพื้นที่ใหญ่ขึ้นจึงรวมตัวกันมาเช่าพื้นที่ จากห้องสักหมุนเวียนแบบป็อปอัพเลยเช่าห้องเป็นสตูดิโอสัก Rosemarywood Studio บนชั้นสองของบ้าน” จอมพาเที่ยวบ้านต่อ
Rosemarywood Studio
เพียงแค่เดินขึ้นบันไดไปสู่ชั้นสองของตัวบ้านก็ราวได้หลุดไปอยู่อีกโลกนึง ไม่น่าเชื่อว่าเสียงดนตรีรวมทั้งเสียงบรรยากาศบริเวณชั้นล่างไม่สามารถเล็ดรอดขึ้นมารบกวนความสงบบนตัวบ้านได้แม้แต่น้อย ยิ่งมองออกไปนอกกรอบหน้าต่างบนผนังไม้ที่มีสีเขียวสดชื่นของใบไม้ด้านนอกเป็นฉากหลัง ยิ่งรู้สึกเหมือนได้วาร์ปไปต่างจังหวัดในพริบตา
และในมวลความเงียบสงบนี้เองจึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะเจาะสำหรับการบรรจงทำงานสักลวดลายลงบนผิวหนัง อันเป็นงานที่ต้องใช้สมาธิอย่างสูง ห้องสักขนาด 4 เตียงอย่าง Rosemarywood Studio จึงปักหลักให้บริการอยู่ ณ บริเวณนี้
ผ้าม่านสีขาว พื้นและผนังไม้ กับกระถางต้นไม้ใบเขียวที่ประดับตามมุมต่างๆ ดูจะเป็นบรรยากาศร้านสักที่อ่อนโยนผ่อนคลายต่างไปจากภาพจำของร้านสักที่หลายคนคุ้นเคย เช่นเดียวกับสไตล์การสักของที่นี่ที่เหมาะสำหรับคนชอบความบาง ไล่สีอย่างมีเอกลักษณ์ และใช้วิธีสักแบบ handpoke ที่สามารถรังสรรค์ลวดลายได้หลายสไตล์ เช่น minimal, font, botanical, color gradient ฯลฯ
นอกจากนี้ ช่างมี่และเพื่อนยังมีการจัด handpoke workshop เป็นประจำ สำหรับคนที่สนใจศาสตร์แขนงนี้ โดยสอนตั้งแต่หลักการเตรียมอุปกรณ์ เทคนิคการสักแบบต่างๆ พื้นฐานสีและองค์ประกอบศิลป์ ฝึกการสักหนังเทียมและการสักผิวคนโดยมีทีมช่างคอยดูแลทุกขั้นตอน สอบถามรายละเอียดได้ที่ Line : @rosemarywood.stu หรือ FB : Rosemarywood Studio , IG : rosemary.wood.studio
ช่างมี่ยังเปิด selected shop ชื่อ Traut ในห้องเล็กๆ บริเวณทางขึ้นบันได มีตัวเลือกของเสื้อผ้าและข้าวของกระจุกกระจิกสำหรับใครที่มีรสนิยมตรงกับเธอ
โยคะค่ำวันอังคาร
อีกหนึ่งห้องที่อบอวลด้วยมวลพลังงานดีที่สุดแห่งหนึ่งในบ้านหลังนี้ คือ ห้องสำหรับฝึกโยคะ ด้วยพื้นที่กว้างขวางสามารถรองรับได้ประมาณ 9 เสื่อโยคะ และมีหน้าต่างรอบห้องทั้งสองด้าน จึงใช้การเปิดหน้าต่างให้อากาศหมุนเวียนขณะที่นักเรียนโยคะกำลังเข้าสู่อาสนะต่างๆ โดยมี ครูต้าร์ – ชยพัทธ์ ภักดี เป็นผู้สอนหฐะและวินยาสะโยคะทุกวันอังคาร เวลา 19.00 – 20.00 น.
“ครูต้าร์เป็นเพื่อนสมัยเรียนสถาปัตย์ ธรรมศาสตร์ด้วยกัน และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดเหมือนกัน คือ ด้วยสถานะการเป็นครูสอนโยคะแบบพาร์ทไทม์ทำให้ถูกเลิกจ้างในช่วงโควิดระบาด แต่ด้วยความที่มีนักเรียนกลุ่มนึงติดครูต้าร์ เลยมีการมองหาพื้นที่สอนโยคะในกลุ่มเล็กๆ จอมเลยแนะนำว่าห้องนี้เหมาะมาก ครูต้าร์เลยมาอยู่กับเราแบบเงียบๆ ตั้งแต่เปิดร้านรอบที่สองจนถึงทุกวันนี้”
จอมเล่าต่อว่า บ้านเลมอนยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้หญิงมุสลิมที่อยากออกกำลังกาย เพราะด้วยข้อจำกัดด้านการแต่งกายที่ต้องสวมฮิญาบตลอดเวลา ทำให้คลาสสอนพีลาทีสแบบตัวต่อตัวของที่นี่เป็นตัวเลือกที่ได้รับการบอกต่อปากต่อปากในกลุ่มชาวมุสลิม ซึ่งเป็นชุมชนหลักในแถบบางพลัด-บางอ้อ
Lemon Eat Stories
มาถึงอีกหนึ่งจิ๊กซอสำคัญที่เป็นมากกว่าการประกอบร่างเวิ้งเลมอนให้เต็ม เพราะห้องอาหาร Lemon Eat Stories เกิดขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น
“อย่างที่บอกว่าเราเป็นคนบางพลัดบางอ้อที่แทบไม่รู้จักแถวนี้เลย ดังนั้น ถ้าเราอยากเล่าเรื่องชุมชนของเรา ก็ต้องพาตัวเองออกไปเดินสายดูชุมชนอื่นๆ จนได้รู้จักกับกลุ่ม ‘ยังธน’ ซึ่งเป็นรุ่นน้องที่คณะ และก็ได้รู้จัก อ๊อฟ – ศกวรรณ์ สุขสบาย ซึ่งทำงานด้านชุมชนสร้างสรรค์อยู่แล้ว เลยคุยกันมาตลอดว่าอยากทำให้คนรู้จักของดีถิ่นบางพลัดบางอ้อ จนเกิดเป็นทริปเดินสำรวจชุมชนในชื่อ ‘อ๋อ บางอ้อ’ ทำให้เราเองก็ได้รู้จักพันธมิตรมากขึ้น เช่น คาเฟ่ที่เปิดใกล้ๆ ในระยะเดินได้ เลยเหมือนเป็นคอมมูนิตี้มากขึ้น ทุกคนช่วยกันประชาสัมพันธ์ดึงคนโน้นคนนี้ให้เข้ามารู้จักชุมชนของเรามากขึ้น”
จอมเล่าต่อถึงหนึ่งในเคล็ดลับสำคัญที่จะทำให้คนรู้สึก ‘อิน’ กับแต่ละชุมชนมากขึ้น นั่นก็คือ การแนะนำให้เขาได้ชิมของอร่อยของดีประจำท้องถิ่นนั้นๆ การเปิด Lemon Eat Stories ร้านอาหารประจำบ้านเลมอนจึงถือกำเนิดขึ้น โดยได้อ๊อฟ ผู้ช่ำชองด้านชุมชนและชำนาญการปรุงอาหาร ร่วมกันกับ นุธน์ – กิรณา ภัทรอมรธราคุณ ในการช่วยกันนำของดีบางพลัดบางอ้อมาพลิกโฉมเป็นเมนูเด็ดที่คนต้องอยากมาลอง
และวัตถุดิบชั้นดีของชุมชนมุสลิมเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ก็ได้แก่ เนื้อวัว ซึ่งได้จากฟาร์มวัวของชาวมุสลิมในถิ่นนี้ที่ผลิตเนื้อวัวเกรดเอที่ถูกต้องตามหลักฮาลาลส่งขายไปทั่วประเทศ โดยอ๊อฟและนุธน์เลือกนำเสนอความอร่อยในสไตล์โฮมมี่ฟิวชั่น ผสมผสานความเป็นไทยในแบบที่ร่วมสมัย เข้าใจง่าย และออร์แกนิกที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาทิ แต่งหน้าอาหารแต่ละจานด้วยดอกไม้กินได้ ใช้ข้าวหอมมะลิของไทย ใช้น้ำมันรำข้าว และไม่ใส่ผงชูรส
เมนูยืนหนึ่งของที่นี่ต้องยกให้ ข้าวกะเพราเนื้อออสไข่ข้น ทั้งสองเชฟยืนยันว่ากะเพราที่นี่รสชาติเข้มข้น จัดจ้าน และให้รสที่เผ็ดลึกแตกต่างจากกะเพราที่เคยกินมาตลอดชีวิต หรือถ้าใครไม่ถนัดทานเผ็ดก็มี ข้าวหน้าเนื้อสไลด์ไข่ออนเซน เป็นอีกตัวเลือกของการได้กินเนื้อชั้นดีประจำถิ่นบางพลัดในสไตล์ญี่ปุ่น
อีกจานที่หอมอร่อยล้ำลึกเป็นพิเศษ ได้แก่ ไก่เกาหลีออเรนจ์จิงเจอร์ หน้าตาเหมือนไก่กรอบเกาหลี แต่ที่แตกต่างคือรสชาติหวานซ่อนเปรี้ยวลงตัวของซอสส้มและขิง ที่ช่วยเพิ่มรสชาติหอมละมุนในทุกคำเคี้ยว และอีกจานที่ถูกใจคนรักข้าวไข่ข้น ต้องลอง ข้าวหน้ากุ้งคั่วพริกเกลือไข่ข้น ที่เข้มข้นไม่แพ้เมนูอื่นใดในร้านนี้
Lemon Eat Stories เปิดบริการเวลา 10:00-18:00 น. ปิดวันพุธ
เมื่อชีวิตบอกกับเราว่า…
“When Life Gives You Lemons เป็นชื่อที่ยาวและจำยาก คนเลยชอบเรียกที่นี่ว่าบ้านเลมอน หรือเวิ้งเลมอนมากกว่า” จอมยิ้มเมื่อพูดถึงชื่อเรียกขานสเปซรวมกิจกรรมแห่งนี้ ซึ่งมีที่มาจากสำนวนเต็มอย่าง When life gives you lemons, make lemonade. ที่หมายความในเชิงให้กำลังใจทำนองว่า ในช่วงเวลาที่คิดว่ายากลำบากหรือเลวร้าย สุดท้ายเราก็จะผ่านพ้นมันไปได้
“เรารู้สึกว่าเลมอนสื่อถึงความสดใส ร่าเริง ไปหน่อย มีความเป็น Positive Vibe แล้วด้วยความที่ตัวเองเริ่มโตขึ้น พบเจอหลายเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตที่เดี๋ยวก็บวก เดี๋ยวก็ลบ เดี๋ยวก็อะไรไม่รู้เต็มไปหมด เราเลยอยากรีแบรนด์ที่นี่เป็นชื่อ When Life มากกว่า เราจะได้เล่าเรื่องราวของบ้านแบบไม่ต้องฝืนมาก เวลาเหนื่อยก็ไม่ได้อยากจะทำตัวว่าฉันสดใส” จอมเล่าถึงความตั้งใจในการรีแบรนด์ชื่อสเปซแห่งนี้ และเล่าต่อถึงความตั้งใจในการสร้างสรรค์พื้นที่แกลเลอรีให้สามารถเลี้ยงตัวได้อย่างจริงจังในอนาคต
“การจะเป็นแกลเลอรีที่ขายงานศิลปะได้ ต้องค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์เพื่อเติบโตเป็นแกลเลอรีที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เราอยากไปให้ถึง เพราะเราจะได้อยู่กับศิลปะที่มีมุมมองใหม่ๆ ตลอดเวลา พอได้อยู่ใกล้คนที่มีแพสชั่นแบบสุดตัว ทำให้เรามีไฟในการใช้ชีวิต”
หากเปรียบเป็นการวิ่งให้ถึงเส้นชัย จอมวิ่งในเพซที่ต่อเนื่อง ไม่เร่งรีบ แต่ก็ไม่หยุดเดิน นั่นเป็นเหตุผลที่ When Life, บ้านเลมอน หรือเวิ้งเลมอน อุดมไปด้วยกิจกรรมมากมายกว่าที่เรานำมาเล่าเสียงอีก เช่น ในภาคของการเตรียมตัวเป็นแกลเลอรีที่สมบูรณ์แบบ จอมแบ่งพื้นที่ชั้นล่างสำหรับศิลปินมืออาชีพ และชั้นสองสำหรับศิลปินหน้าใหม่ที่เธอเปิดพื้นที่ให้จัดแสดงฟรี เพื่อร่วมสนับสนุนเวทีในการแสดงผลงาน นอกจากนี้ ยังมีห้องสำหรับเก็บงานศิลปะสำหรับศิลปินที่อยากฝากงานไว้ที่นี่อีกด้วย
และเพื่อให้แกลเลอรีได้ทำหน้าที่อย่างสมภาคภูมิ จอมเลือกที่จะแยกพื้นที่ของร้านกาแฟอย่าง ก.การชง ออกเป็นสัดส่วนต่างหาก แต่สามารถเดินถึงกันได้สะดวก ส่วนใครที่อยากเปลี่ยนสถานที่นั่งทำงาน ที่นี่ถือเป็น co-working space ที่บรรยากาศรื่นรมย์อุดมสมาธิที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ก็ว่าได้
ห้องจัดเวิร์คช้อป อยู่ในอีกเรือนที่แยกออกจากตัวบ้านใหญ่ และเป็นพื้นที่ซึ่งเคยก่อให้เกิดแรงบันดาลใจขึ้นมากมายจากคลาสปั้นเซรามิค ถักไหมพรม วาดภาพสีน้ำ สอนดนตรี ฯลฯ เดินลึกเข้าไปอีกนิดเป็นโรงผลิตงานไม้ที่มาพร้อมอุปกรณ์ให้เช่าครบครัน และลึกสุดใจด้านในเรือนคือ ห้องมืดสำหรับใครที่อยากล้างอัดภาพถ่ายขาวดำด้วยตนเอง
มากไปกว่านั้นคือ กิจกรรมหมุนเวียนสารพันรูปแบบที่ขยันจัดทุกเดือนทุกสัปดาห์ อาทิ Art For Fun (ทุกวันเสาร์แรกของเดือน) คลาสเรียนศิลปะที่คุยกันก่อนได้ว่าอยากจะเรียนเพ้นต์ ปั้น วาด หรือระบายสี สอนโดยครูณัฏฐ์ นักกฎหมายหัวใจศิลปะเจ้าของฝีมือสเก็ตช์ภาพว่องไวใน 7 นาที, กลุ่มนักอ่าน Just Read ที่มารวมตัวกัน ‘อ่านหมู่’ อ่านหนังสือแล้วล้อมวงคุยกันที่นี่ทุกเดือน, เวิร์กช้อปฝึกลมหายใจ, โยคะคอนเสิร์ต และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้ชีพจรของย่านบางพลัด-บางอ้อเต้นแรงยิ่งขึ้น
When Life Gives You Lemons
เปิดบริการเวลา 11:00 – 18:00 น. ปิดวันพุธ
ซอยจรัลสนิทวงศ์ 91 บางพลัด กรุงเทพฯ
โทร 099 424 9794
FB: When Life Gives You Lemons