เปิดตัวพร้อมกับภาพยนตร์ที่จะต้องถือว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของคริสโตเฟอร์ โนแลน เหมือนจะนัดพุ่งเข้าชนในสัปดาห์เดียวกัน ด้วยผลงานที่อยู่กันคนละขั้วสุดโต่งทั้งด้านเนื้อหา ประเภทและสไตล์การนำเสนอ
จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เอาชื่อหนังสองเรื่อง Barbie + Oppenheimer มาเรียกรวมผสานกันเป็น Barbenheimer ซึ่งกลายเป็นแง่มุมคมคายให้หนังทั้งสองเรื่องผนึกกำลังกันตีข่าวโหมประโคม สร้างกระแสให้แก่แฟนๆ ทั้งสองฝั่งยิ่งขึ้นไปอีก
“บาร์เบนไฮเมอร์” มีประเด็นคล้ายๆ กันที่จุดประกายให้แฟนหนัง คือหนังแต่ละเรื่องมีผู้กำกับฯ ที่ฝากฝีมือไว้เข้าตาแฟนๆ มาแล้ว โดยที่คริสโตเฟอร์ โนแลน ออกจะได้เปรียบตรงที่ฝีมือเก๋ามากกว่า และอยู่ในวงการบันเทิงกระแสหลักมานานกว่า
ส่วนเกรตา เกอร์วิก นั้นเพิ่งจะมาดังในแวดวงหนังอินดี้เมื่อไม่กี่ปีมานี้ด้วย Lady Bird และ Little Women (ซัวร์ชา โรนัน นำแสดงทั้งสองเรื่อง)
มาร์โก ร็อบบี้ เป็นผู้อำนวยการสร้าง ดารานำ และเจ้าของไอเดียที่นำไปเสนอแก่บริษัทผลิตของเล่นมัตแทลซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ใน “บาร์บี้” ตุ๊กตายอดฮิตสาวสวยผมทองสลวยเอวคอดกิ่วสะโพกผายอกโต ท่อนขาตรงสวยที่ออกแบบเท้าให้รองรับการสวมใส่รองเท้าส้นสูงระเหิดระหง ซึ่งถ้าเป็นรองเท้าในชีวิตจริง ผู้สวมใส่จะต้องเดินเขย่งเก็งกอยอยู่บนส้นที่สูงไม่น้อยกว่าห้าหกนิ้วละมัง
ด้วยหน้าตาสะสวยเปล่งประกายแห่งชีวิตชีวาและรัศมีดารา ขากรรไกรกว้าง ยิ้มเห็นฟันเรียงเป็นระเบียบ และเอวคอดกิ่วของมาร์โก ร็อบบี้ ผู้โด่งดังมาจากหนัง I, Tonya ในภาพลักษณ์ของนักสเก๊ตสาวที่เอาเป็นเอาตายกับการชิงตำแหน่งสุดยอดในเกมกีฬาบนลานน้ำแข็ง และการแสดงที่เหมาะเจาะลงตัวกับแคแร็กเตอร์ของบาร์บี้ ทำให้นึกได้ยากว่าถ้าไม่ใช่มาร์โก แล้วจะมีใครมาเป็นบาร์บี้ได้สมบทบาทไปกว่าเธอ
นัยว่ามาร์โกมุ่งมั่นพากเพียรไปกล่อมผู้บริหารของมัตแทลครั้งแล้วครั้งเล่า จนใจอ่อนยินยอมมอบสิทธิ์ในการสร้างภาพยนตร์ แถมยังยอมให้เสนอภาพของซีอีโอเป็นตัวตลก (วิลล์ ฟาร์เรล) ในหนังเสียอีกด้วย
ที่สำคัญคือมาร์โกติดต่อขอให้เกรตา เกอร์วิก มาร่วมงานในฐานะผู้ร่วมพัฒนาบทและผู้กำกับภาพยนตร์
ซึ่งนับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดสำหรับ Barbie เพราะเกอร์วิกเป็นจักรกลสำคัญที่ทำให้หนังเกี่ยวกับตุ๊กตาสีชมพูในดวงใจของเด็กเกือบทั้งโลกมีเนื้อหาสาระมากกว่าเรื่องราวกระจุ๋มกระจิ๋มเบาหวิวไร้แก่นสาร
แน่นอนว่าเหล่าสาวกบาร์บี้น่าจะดูหนังด้วยอรรถรสและความเข้าใจที่ “อิน” มากกว่าคนดูที่ไม่รู้จักบาร์บี้เลย
เพราะบาร์บี้อยู่คู่กับวัฒนธรรมอเมริกันและแผ่ขยายไปทั่วโลกมานานร่วมหกสิบปีแล้ว เชื่อว่ามีเด็กผู้หญิงน้อยคนมากที่จะไม่รู้จักหรือไม่เคยเป็นเจ้าของบาร์บี้
ผู้เขียนโตมาพร้อมๆ กับความนิยมในบาร์บี้เหมือนกันค่ะ แต่ขอสารภาพว่าไม่เคยมีหรือนึกอยากให้พ่อแม่ซื้อบาร์บี้ให้สักตัว เพราะอย่าว่าแต่ตัวตุ๊กตาเลย แค่เสื้อผ้าชุดธรรมดาของบาร์บี้ที่ตัดเย็บด้วยมือแบบที่ไม่ต้องวิจิตรอลังการมากนัก ก็แพงกว่าเสื้อผ้าเด็กทั่วไปนับสิบเท่าแล้วล่ะ และบาร์บี้ยังเป็นตุ๊กตาเปลี่ยนเสื้อได้ที่เด็กๆ จะต้องหาเสื้อผ้ามาสวมใส่ให้เหมาะกับกาลเทศะในบรรยากาศการเล่น
กระแส “บาร์เบนไฮเมอร์” แรงมากจนต้องพาตัวไปดูให้ครบทั้งสองเรื่องในเวลาใกล้เคียงกัน
ไม่แปลกใจตัวเองหรอกค่ะที่ชื่นชม Oppenheimer แต่ออกจะแปลกใจตัวเองที่ชื่นชอบ Barbie ไม่น้อยเหมือนกัน
งานออกแบบโปรดักชั่นที่มีสีสัน งานออกแบบเครื่องแต่งกาย และลีลาท่าทางการเต้นรำ รวมทั้งฝีมือการแสดงของนักแสดงตัวนำ ล้วนสะดุดตาสะดุดใจ
หนังเริ่มด้วยฉากที่ล้ออย่างน้อมคารวะต่อฉากเปิดเรื่องที่น่าจดจำของหนังคลาสสิค 2001: A Space Odyssey ของสแตนลีย์ คูบริก
ด้วยเสียงอันน่าฟังของเฮเลน มีร์เรน คำบรรยายพูดถึงการที่เด็กผู้หญิงเล่นตุ๊กตามาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล ตุ๊กตามีอยู่ในทุกวัฒนธรรมด้วยรูปแบบและวัสดุที่แตกต่างกันไป ทว่า แต่ไหนแต่ไรมา เด็กผู้หญิงก็ได้แต่เล่นตุ๊กตาทารก โดยทำตนเป็นดั่งแม่ที่ดูแลลูกของตน
แต่โลกทั้งโลกกำลังจะเปลี่ยนไป พร้อมกับการมาถึงของบาร์บี้ สาวสวยรูปร่างอรชรอ้อนแอ้นในชุดว่ายน้ำ บาร์บี้ยืนตระหง่านท่ามกลางขุนเขาในธรรมชาติ มีเด็กหญิงตัวน้อยวิ่งมาแหงนหน้ามองอย่างชื่นชม และพากันทุบตุ๊กตาทารกของตนให้แตกทำลาย และมีตุ๊กตาตัวหนึ่งถูกโยนขึ้นไปแบบสโลว์โมชั่นในอวกาศอันเวิ้งว้าง ล้อเลียนภาพเปิดเรื่อง 2001 : A Space Odyssey พร้อมกับเสียงเพลงที่ทุกคนต้องคุ้นหูอยู่แล้วล่ะ
สงสัยว่าคนรุ่นนี้หลายคนอาจจะไม่เคยดู 2001 เลยไม่ได้ยินเสียงหัวเราะจากเพื่อนร่วมโรงหนังสักแอะเดียว แต่ผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะขำอย่างเบิกบานต่อเนื่องไป จนทำให้พร้อมจะก้าวเข้าไปสู่เรื่องราวในหนังได้ด้วยทัศนคติแรกเริ่มที่ปูพื้นได้ดีมาก
อยู่ดีๆ บาร์บี้ผู้ไร้ทุกข์แสนสุขทุกวันคืนในแดนหรรษาบาร์บี้แลนด์ ก็เกิดแว่บนึกถึงความตายขึ้นมา และชีวิตอันสดใสของตุ๊กตาสีชมพูก็เริ่มสะดุดกึกกัก เช่น ก้าวไปใต้ฝักบัวอาบน้ำอันเย็นเฉียบถึงกับสะดุ้ง หล่นแอ้กลงข้างรถยนต์สีสวยที่เคยขับขี่ลอยเลื่อนเคลื่อนคล้อย ฯลฯ
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่บาร์บี้ต้องออกเดินทางเสาะแสวงหาความจริงเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของตัวเองในโลกแห่งความเป็นจริง
และเป็นจุดเริ่มต้นที่เคน ตุ๊กตาผู้ชายที่ถูกสร้างมาให้เคียงข้างบาร์บี้ เริ่มค้นพบอัตลักษณ์และเรียกร้องสิทธิเสมอภาคของความเป็นชาย!!!
ฝีมือกำกับฯ และร่วมเขียนบทของเกรตา เกอร์วิก ทำให้ Barbie ไม่ว่างเปล่ากลวงโบ๋ แต่มีสาระที่มาพร้อมอารมณ์ขันแบบจี้เส้น เช่น การที่บาร์บี้เกิดพบว่าตัวเองไม่ได้ยืนเขย่งเก็งกอยอยู่ตลอดเวลาแล้ว แต่ฝ่าเท้ากลับราบแบนติดพื้น ซึ่งกลายเป็นเรื่องช็อกขนาดมโหฬาร และขาตัวเองเริ่มมีเซลลูไลต์…ซึ่งเป็นเรื่องชวนตกใจสำหรับสาวทุกคน…
ฉากการตัดสินใจเลือกระหว่างรองเท้าส้นสูงลิบคู่สวยกับรองเท้าแตะยี่ห้อเบอร์เคนสต็อกใหญ่เทอะทะ ก็จี้เส้นมากค่ะ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้ไม่ได้รับอิทธิพลมาจาก The Matrix ตอนที่นีโอต้องเลือกระหว่างยาเม็ดสีแดงกับสีน้ำเงิน
สนุกค่ะ แม้สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นแฟนพันธุ์แท้ของบาร์บี้…ซึ่งต้องบอกว่าผู้คิดค้นบาร์บี้ออกสู่โลกของเล่น ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของวัฒนธรรมการเล่นของเด็กผู้หญิงทั่วโลกไปเลย รวมทั้งเปลี่ยนวิธีคิดของเด็กผู้หญิงและเป็นตัวแทนของสตรีนิยมอีกต่างหาก
เพราะบาร์บี้เป็นสาวที่มีชีวิตอิสระในโลกกว้าง มีรถยนต์ขับ มีบ้านช่องสวยงาม มีอาชีพการงานต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นสาวสังคม นักบินอวกาศ ประธานาธิบดี ฯลฯ
และบาร์บี้อยู่ยงคงกระพันในโลกของเล่นมากว่า 60 ปีแล้ว โดยมีวิวัฒนาการไปตามกระแสและสร้างกระแสให้ตาม
หนังได้ประมวลความคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมตุ๊กตาสีชมพูตัวนี้ไว้อย่างหลากหลายน่าคิดทีเดียว… •
BARBIE
กำกับการแสดง
Greta Gerwig
แสดงนำ
Margot Robbie
Ryan Gosling
Kate McKinnon
America Ferrara
Ariana Greenblatt
Will Farrell
Helen Mirren
Michael Cera
ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022