Site icon เว็บไซต์บางแสน

“เคเบิลท้องถิ่น” ในวันที่ยังมีลมหายใจ

566000000880301.jpg


กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เมื่อวันก่อน มีโอกาสไปศึกษาดูงาน บริษัท แสนสุข วิชั่น จำกัด ผู้ให้บริการเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่นจังหวัดชลบุรี ตั้งอยู่ที่ ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี โดยมีคุณพงษ์ศักดิ์ นันทวนิช ผู้จัดการบริษัทฯ ให้การต้อนรับ

งานนี้มาในนาม หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 11 นำโดย คุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ผู้อำนวยการหลักสูตร และ คุณอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ผู้จัดการหลักสูตร

สถานที่จัดขึ้นอย่างเรียบง่าย ภายในลานจอดรถด้านหลังบริษัทฯ มีข้าวหลามหนองมน ของดีของอร่อยประจำถิ่นให้ชิม สายเคเบิลจำนวนมากที่ระโยงระยางตรงหน้า อาจจะบ่งบอกถึงช่วงเวลาผ่านร้อนผ่านหนาวของธุรกิจที่ยาวนาน

คุณพงษ์ศักดิ์ บอกเล่าสถานการณ์ธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา ว่า บริษัทฯ ประกอบกิจการมาตั้งแต่ปี 2539 หรือเมื่อ 26 ปีก่อน เริ่มจากให้บริการเคเบิลทีวีในพื้นที่ 5 เทศบาลของจังหวัดชลบุรี พื้นที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร

ได้แก่ เทศบาลตำบลแสนสุข เทศบาลตำบลห้วยกะปิ เทศบาลตำบลอ่างศิลา เทศบาลตำบลเหมือง และบางส่วนของเทศบาลตำบลบางพระ หากวัดจากถนนสุขุมวิท จะเริ่มตั้งแต่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ชลบุรี ถึงสี่แยกไฟแดงศรีราชา

ต่อมาปี 2548 ได้ประกอบธุรกิจวิทยุชุมชน 2 คลื่น ได้แก่ เอฟ.เอ็ม. 90.75 และ 96.75 กระทั่งปี 2558 บริษัทฯ ให้บริการอินเทอร์เน็ต ตามใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 2

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ประสบปัญหาเหมือนผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นๆ คือ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้านต่างๆ ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการปิดเมือง (ล็อกดาวน์) ทำให้บริษัทฯ ต้องปรับตัว

พื้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการปิดเมือง คือ เมืองพัทยา เนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ส่วนพื้นที่บางแสนจะเป็นสถานศึกษา ก็มีการหยุดการเรียนการสอน นักท่องเที่ยวมีประปรายบ้าง ปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ

แม้บริษัทฯ จะให้บริการลูกค้าอย่างยาวนานและมีฐานลูกค้า แต่การแข่งขันด้านโทรคมนาคมในจังหวัดชลบุรีรุนแรง โดยเฉพาะผู้ให้บริการสองค่ายยักษ์ใหญ่ ที่ออกโปรโมชันอินเทอร์เน็ตพ่วง OTT (กล่องทีวี)

ทำให้บริษัทฯ ต้องปรับตัว ด้วยการให้บริการเคเบิลทีวีแถมอินเทอร์เน็ต ในราคา 350 บาทต่อเดือน รับชมได้ 140 ช่องรายการ แม้จะสู้เรื่องราคาไม่ได้ แต่ก็เลือกที่จะแข่งขันเรื่องคอนเทนต์ (เนื้อหารายการ) เป็นหลัก

โดยคอนเทนต์ที่ผลิตเอง ได้แก่ รายการข่าวท้องถิ่น และช่องภาพยนตร์ แต่ยอมรับว่าความสนใจข่าวสารของวัยรุ่น มักจะติดตามผ่านโซเชียลมีเดีย ส่วนคนที่ติดตามก็ยังมีเจนเอ็กซ์ กับเจนวาย รวมถึงวัยผู้ใหญ่คละกันอยู่

ปัจจุบัน รายการข่าวท้องถิ่นออกอากาศทุกวัน เวลา 5 โมงเย็น เมื่อก่อนไม่ได้หวังพึ่งรายได้จากโฆษณาเป็นหลัก เพราะแบ่งรายได้จากค่าสมาชิกส่วนหนึ่งผลิตรายการข่าว เพื่อสร้างความแตกต่างและมีตัวตนในพื้นที่

ที่ผ่านมารายการข่าวท้องถิ่นจะเป็นที่ชื่นชอบของส่วนราชการ เมื่อออกอากาศไปเรื่อยๆ แอร์ไทม์มีมูลค่าขึ้นมา ก็มีผู้ลงโฆษณาเข้ามา สำหรับข่าวส่วนใหญ่จะมาจากผู้สื่อข่าวภูมิภาค หรือสตริงเกอร์ อีกส่วนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากที่นี่

ปัจจุบันมีการตั้งบริษัทกลางที่ชื่อว่า ซีซีเอ็น เน็ตเวิร์ค (Cable Chonburi Network) ทำหน้าที่จัดการเรื่องคอนเทนต์และสัญญาณทีวีดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการ 3 ราย ได้แก่ เมืองชลบุรี บางแสน และศรีราชา

สำหรับผลกระทบจากทีวีดิจิทัลในช่วงที่ผ่านมา จังหวัดชลบุรีรับสัญญาณได้ 2 แหล่ง คือ จากกรุงเทพมหานคร และจากสถานีเขาฉลาก อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี แต่สัญญาณทีวีดิจิทัลพื้นที่นี้รับได้ไม่ค่อยดี ต้องตั้งเสาอากาศที่สูง

แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปสู่หน้าจออื่นนานขึ้น หน้าจอโทรทัศน์ลดความสำคัญลง และผลกระทบจากโควิด-19 เศรษฐกิจแย่ลง ผู้คนลดรายจ่ายมากขึ้น เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขกันต่อไป

สัดส่วนรายได้ก่อนหน้านี้มีโฆษณาและอีเวนต์ ขณะนั้นมีผู้ประกอบการโฆษณาผ่านทีวีดาวเทียม แต่สักพักหนึ่งก็ค่อยๆ จางลง ที่ผ่านมาการขายโฆษณาจะพ่วงกับวิทยุชุมชน ลูกค้ามีตั้งแต่ร้านหมูกระทะ ถึงเอเจนซีโฆษณาจากกรุงเทพฯ


สำหรับธุรกิจวิทยุธุรกิจท้องถิ่น ที่ผ่านมาใบอนุญาตทดลองออกอากาศของ กสทช. ให้ใช้กำลังส่งที่ 500 วัตต์ โดยให้ออกอากาศถึงปี 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่วิทยุทดลองออกอากาศทุกแห่งจะต้องหยุดประกอบกิจการ

ขณะนี้กำลังรอท่าทีจาก กสทช. ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อทิศทางของวิทยุชุมชนหลังปี 2567 จะผ่านรัฐบาลชุดนี้ หรือต้องรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา ซึ่งถ้าจัดระเบียบดีก็มีประโยชน์ แต่ถ้ากระทบต่อวิทยุส่วนกลางก็อีกเรื่องหนึ่ง

โดยส่วนตัวคิดว่า วิทยุชุมชนน่าจะมีประโยชน์มากกว่าโทษ ถ้าหากปี 2567 ต้องเลิกประกอบกิจการกันหมด ก็น่าจะต้องทบทวน แต่ถ้าวันนี้ กสทช. ยังไม่ตัดสินใจ เพื่อรอหลังเลือกตั้ง ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

สำหรับพฤติกรรมผู้ฟังวิทยุท้องถิ่นนั้น วิทยุระบบแอนะล็อก (Analog) ยังเป็นฐานใหญ่ เพราะคนที่ฟังส่วนใหญ่จะอยู่ในรถยนต์ การฟังวิทยุผ่านออนไลน์ยังเป็นสัดส่วนที่น้อย เพราะยังมีความเปลี่ยนแปลงไม่มากเหมือนสื่อโทรทัศน์

อีกทั้งวิทยุระบบแอนะล็อกยังคงใช้งานได้อยู่ สังเกตจากการประมูลคลื่นวิทยุเมื่อปี 2565 ที่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ต้องเข้าร่วมประมูลคลื่นวิทยุด้วยมูลค่าที่สูงมาก แสดงว่าวิทยุแอนะล็อกยังมีมูลค่าอยู่

สำหรับวิทยุธุรกิจท้องถิ่น แม้กลุ่มผู้ฟังจะเป็นวงแคบ แต่ก็ยังมีคนท้องถิ่นฟังอยู่เยอะ แสดงว่ายังสื่อสารและมีคนติดตามอยู่ แต่ถ้าชุมชนใดไม่มีคนพื้นถิ่น กลุ่มผู้ฟังค่อนข้างไปในทางออนไลน์เยอะ

ปัจจุบัน แสนสุข วิชั่น ออกอากาศวิทยุธุรกิจท้องถิ่นอยู่ 2 คลื่น ได้แก่ คลื่น 90.75 จะเป็นคลื่นเพลงสตริง กลุ่มผู้ฟังยังเป็นกลุ่มวัยรุ่น ส่วนคลื่น 96.75 จะเป็นเพลงลูกทุ่งและเพลงเพื่อชีวิต กลุ่มผู้ฟังจะมีอายุขึ้นมาหน่อย

ส่วนการจัดระเบียบสายสื่อสาร บนถนนสุขุมวิททั้งสองฝั่ง แม้จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนดำเนินงาน แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ โดยที่นี่จะจัดระเบียบสายสื่อสารด้วยการ ตัดสายสื่อสารเดิมทั้งหมด แล้วเดินสายสื่อสารใหม่ ยาว 4 กิโลเมตร

หากไม่จัดระเบียบเลย สายสื่อสารก็จะมัดกันเป็นตั้ง รอบแรกใช้วิธีนำสายสื่อสารมัดเป็นท่อรวมกัน แต่เกิดไฟไหม้สายสื่อสาร เพราะมีสลิงและอุปกรณ์ที่ใช้ไฟ เมื่อไฟฟ้าลัดวงจรจะเกิดเพลิงไหม้ทั้งหมด

แม้ผู้ประกอบการรายใหญ่จะไม่มีปัญหา แต่ผู้ประกอบการรายเล็กก็ต้องดิ้นรน เพราะภาครัฐไม่ได้จัดเตรียมหรือจัดหาทรัพยากร มีอย่างเดียวคือวันและเวลาที่จะตัดสาย โดยมีการประชุมร่วม ซึ่งมีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้ประสานงาน

ถึงกระนั้น การจัดระเบียบสายสื่อสารก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะที่ผ่านมาถูกปล่อยปะละเลยเกินจะเยียวยา และไม่มีวิธีอื่น จะปล่อยทิ้งไว้ก็ไม่ได้ แต่เมื่อเป็นผู้ประกอบการรายเล็กก็ได้รับผลกระทบ

ปัจจุบันมีใบอนุญาตพาดสายสื่อสารและมีสัญญากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เสียค่าบริการ 7-8 แสนบาทต่อปี ตกเสาไฟฟ้าต้นละ 32 บาท และต้องขอมิเตอร์ จากค่า FT สูงขึ้น ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 20% ราว 2-3 แสนบาทต่อเดือน

ส่วนการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดิน เป็นงบประมาณของส่วนราชการ เช่น อบต. หรือเทศบาลแต่ละแห่ง แต่ต้องใช้งบที่สูงมาก ปัจจุบันมีการนำสายลงดินแล้วที่ถนนเลียบหาดบางแสน โรงพยาบาลชลบุรี และตำบลบ้านสวน

การบรรยายของคุณพงษ์ศักดิ์ ผู้จัดการแสนสุข วิชั่นในวันนั้น ทำให้รับทราบถึงผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยเฉพาะการเข้ามาของ OTT และกล่องแอนดรอยด์ทีวี ที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมแข่งขันกันรุนแรง

แม้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมแต่ละค่าย อาจจะได้รับผลกระทบจากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกีฬา ที่ไม่สามารถรับชมผ่านไอพีทีวีได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่ติดเน็ตบ้านค่ายยักษ์ใหญ่ ส่วนหนึ่งก็มีกล่องแอนดรอยด์ทีวีติดมาด้วย

ต่อให้คุณไม่เอากล่องแอนดรอยด์ทีวีในวันนั้น แต่วันนี้ก็เริ่มมีค่ายโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ ยื่นข้อเสนอให้ลูกค้าเดิมใช้กล่องแอนดรอยด์ทีวีได้ฟรีแบบติดสัญญา ประมาณ 2 ปี โดยจ่ายค่าบริการอินเทอร์เน็ตในราคาเดิม

เป็นความท้าทายของเคเบิลทีวีท้องถิ่นแทบทุกแห่ง ที่จะต้องแข่งขันกับกลุ่มโทรคมนาคมยักษ์ เพื่อรักษาลูกค้าและพัฒนาบริการ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

Exit mobile version