Site icon เว็บไซต์บางแสน

รถเมล์ไฟฟ้าพามาเยือน “ตลาด 100 ปี คลอง 12 หกวา”

565000012371101.jpg

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เมื่อวันก่อน ผู้ประกาศข่าวหนุ่มท่านหนึ่ง ที่รู้จักกับผู้เขียนมาตั้งแต่สมัยทำกิจกรรมนักศึกษา ชักชวนให้ไปร่วมพิธีกรรมขึ้นบ้านใหม่แบบมุสลิมที่ย่านหนองจอก บ้านนอกกรุงเทพฯ

ด้วยความที่เราไม่คุ้นเคยกับพิธีกรรมแบบมุสลิม จึงถามว่า “มี Dress Code (การแต่งกาย) ไหม” เจ้าตัวตอบว่า “ไม่อ่ะ มากินอย่างเดียว ไม่ต้องเยอะ ง่ายๆ เจ้ามือ”

และยังถามอีกด้วยว่า “ผจญภัยเก่ง อยากนั่ง 525 ไม่ใช่เหรอ?”

525 ที่ว่า คือรถประจำทาง ขสมก. สาย 525 อู่สวนสยาม-คู้ซ้าย-หมู่บ้านเธียรทอง 3 ซึ่งเป็นรถเมล์เพียงไม่กี่สายที่ผ่านเข้ามาในเขตหนองจอก ไม่ได้ผ่านตัวเมืองหนองจอก แต่ไปทางถนนมิตรไมตรีและถนนประชาสำราญ

ในอดีตรถเมล์ (จริงๆ) ที่เข้าเขตหนองจอก มีอยู่สายเดียว คือ สาย 131 คลองกุ่ม-หนองจอก เป็นรถร่วมบริการ ผ่านมีนบุรี ถนนสุวินทวงศ์ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเชื่อมสัมพันธ์ ผ่านมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร สิ้นสุดที่เขตหนองจอก

แต่เมื่อมีเหตุการณ์นักเรียนอาชีวะตีกัน แล้วพนักงานขับรถเมล์ถูกลูกหลงเสียชีวิตเมื่อปี 2555 รถร่วมเอกชนต้องยุติให้บริการ ขสมก. จึงจัดรถเมล์ครีมแดง เส้นทางมีนบุรี-หนองจอก ก่อนจะขยายไปยังหมู่บ้านเอื้ออาทรสันติสุข

ระหว่างนั้น ขสมก. ได้เปิดเส้นทาง สาย 525 อู่สวนสยาม-คู้ซ้าย-หมู่บ้านเธียรทอง 3 และ สาย 526 อู่สวนสยาม-คู้ขวา-โรงเรียนหลวงแพ่งรัฐกิจ แต่ถูกรถสองแถวคัดค้านเพราะไปแย่งลูกค้า สุดท้ายจึงเหลือแค่ หมู่บ้านเอื้ออาทรสันติสุข

เส้นทางคมนาคมจากใจกลางเมืองสู่เขตหนองจอกจะมี 3 เส้นทางหลัก ได้แก่ ถนนสุวินทวงศ์ ถึงแยกมหานคร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเชื่อมสัมพันธ์ ซึ่งถนนสายนี้รับรถมาจากถนนฉลองกรุง ที่มาจากเขตลาดกระบังอีกที

อีกเส้นทางหนึ่ง เป็นถนนที่มีแนวเส้นทางขนานไปกับคลองแสนแสบ ได้แก่ คู้ซ้าย ถนนประชาร่วมใจ แยกจากถนนนิมิตใหม่ ต่อเนื่อง ถนนมิตรไมตรี ถึงสามแยกเลี้ยวซ้ายไปถนนประชาสำราญ เลี้ยวขวาไปถนนสกุลดีเข้าเขตหนองจอก

กับ คู้ขวา ถนนราษฎร์อุทิศ แยกจากถนนสุวินทวงศ์ ต่อเนื่อง ถนนเลียบวารี ถึงวงเวียนหนองจอก ต่อเนื่อง ถนนสังฆสันติสุข ขนานกับคลองนครเนื่องเขต ไปออกถนนทหารอากาศอุทิศ เลี้ยวซ้ายไป อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา


ปัจจุบัน รถเมล์สาย 525 กรมการขนส่งทางบกได้ให้ใบอนุญาตเดินรถแก่ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด และปรับเปลี่ยนเส้นทางปฏิรูปเป็นสาย 1-58 ขยายจากเดิมหมู่บ้านเธียรทอง 3 ไปถึงลำลูกกา คลอง 12

ไทยสมายล์บัสนำรถโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้ามาให้บริการ ด้วยเวลาเหลือเพราะนัดไว้ช่วงบ่าย จึงบอกกับกระเป๋ารถเมล์ว่า “ไปคลอง 12” เพราะความที่ไม่เคยไป อยากรู้อยากเห็นว่ามีอะไร วันนั้นผู้คนยังใช้บริการไม่มากนัก

เส้นทางคู้ซ้าย ถนนประชาร่วมใจ เขตคลองสามวา วันนี้ขยายเป็นถนนสี่เลน แต่ไม่มีเกาะกลาง ผ่าน หมู่บ้านกฤษดานคร 25 ซึ่งเป็นบ้านพักของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือบิ๊กป้อม รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ว่ากันว่าช่วงที่ พล.อ.ประวิตร เดินทางเข้าออกหมู่บ้านไปทำงาน มีรถนำขบวนมากันให้พรึ่บพรั่บ

เมื่อถึงสะพานข้ามคลองลัดตาเตี้ย เข้าเขตหนองจอก กลายเป็น ถนนมิตรไมตรี สักพักถึงสะพานข้ามคลองลำหิน และสี่แยกลำหิน ถนนจะเหลือเพียงแค่ 2 เลนสวนทาง แต่ก็ยังเต็มไปด้วยหมู่บ้านจัดสรร ผ่าน เคหะชุมชนหนองจอก

เมื่อถึง สามแยกสกุลดี รถเลี้ยวซ้ายเข้า ถนนประชาสำราญ ยังเป็นถนนลาดยางสองเลน สมกับความเป็นบ้านนอกกรุงเทพฯ สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้ใบหญ้าและบ้านคน ก่อนจะพบเห็นทุ่งนา ผ่านสี่แยก สน.ประชาสำราญ

สุดเขตกรุงเทพมหานคร เข้าเขตจังหวัดปทุมธานี กลายเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กพร้อมเสาไฟส่องสว่าง กระทั่งรถเลี้ยวซ้ายไปตามถนนลำไทร ข้ามคลองสิบสอง ก่อนจะเข้าโค้งเจอถนนสี่เลน


รถเมล์ปรับอากาศสีน้ำเงิน จอดส่งที่หน้าร้านโลตัส โกเฟรช ตลาดลำไทร มาร์เก็ต ฝั่งตรงข้ามจะเป็นตลาดสดคลองสิบสองลำไทร มีร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และมิสเตอร์ดีไอวายตั้งอยู่ ถัดออกไปตรงสามแยกคือตลาดกำนัน

แม้ความเจริญของย่านตลาดคลอง 12 ลำไทร จะเกิดขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ก็พบว่าที่นี่มีธนาคารเพียงแห่งเดียว คือธนาคารออมสิน สาขาลำไทร ซึ่งถ้ามองกันในยุคนี้ เมื่อมีแบงกิ้งเอเยนต์ การขยายสาขาธนาคารก็แทบจะไม่จำเป็น

เดินเท้าผ่านสถานีดับเพลิงลำไทร มองเห็นสะพานข้ามคลองหกวาสายล่าง ใช้ชื่อว่า “สะพานรักลำไทร” ก่อสร้างในปี พ.ศ. 2544 มองออกไปไม่ไกลนักจะเห็นสามแยกถนนลำลูกกา เลี้ยวซ้ายไปลำลูกกา เลี้ยวขวาไปนครนายก

ความน่าสนใจอยู่ที่ป้ายบอกทางบอกกับเราว่า “ตลาดเก่าคลอง 12 หกวา” ด้วยความอยากรู้ว่ามีอะไรจึงเดินเข้าไป ผ่านอาคารพาณิชย์ที่แม้วันนี้จะดูเงียบเหงา แต่ก็บ่งบอกถึงร่องรอยความเจริญในอดีต


มาถึงป้ายแนะนำระบุว่า “ชุมชนย่านตลาดเก่า 100 ปี คลอง 12 หกวา” โดยพบว่ามีหน่วยงานแห่งหนึ่งจัดทำแผนที่พร้อมคิวอาร์โค้ด เที่ยวเสมือนจริง (Virtual Reality) โดยการสนับสนุนของหลายหน่วยงาน

สถานที่น่าสนใจมีอยู่ 8 แห่ง ได้แก่ 1. โบสถ์พระวิสุทธิวงส์ 2. อาคารโรงเรียนเก่าประชาเจริญ 3. ตลาดเก่า 100 ปีคลอง 12 หกวา 4. ศูนย์ประชาสัมพันธ์ 5. สะพาน 100 ปี 6. โรงถ่ายละคร 7. โรงพักเก่า 8. ศาลเจ้าทีกงทีม่า

เราเดินเข้าไปด้านในตลาดเก่า 100 ปี พบว่าเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ถนนตรงกลางมุงหลังคาพอให้กันแดดกันฝน แต่ก็ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา บางหลังไร้ผู้คนอยู่อาศัย แต่บางหลังก็อยู่อาศัยตามปกติ

พลันไปเห็นศูนย์ประชาสัมพันธ์ ภายในตลาด 100 ปี แผ่นป้ายที่จัดทำขึ้นอย่างเรียบง่ายบ่งบอกถึงความเป็นมาในอดีตของตลาดแห่งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ด้วยความสละสลวยของภาษา จึงขอหยิบยกมาดังนี้


“ประวัติเก่า – ครั้นอดีตในปี ร.ศ. 108 (พ.ศ. 2433) พื้นที่แห่งนี้เป็นทุ่งรกร้างกว้างสุดหูสุดตา ห่างไกลความเจริญ ไม่มีผู้คนอาศัย เดินทางไปมายากลำเข็น ในหลวงแห่งสยามประเทศ ท่านทรงมีดำริให้ขุดคลองหกวาขึ้น เพื่อเป็นคลองส่งน้ำ และเพื่อการสัญจร

“ทุ่งหลวง” พื้นที่แห่งนี้ ก็เริ่มมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัย และขยับขยายออกมา รวมทั้งบริเวณแห่งนี้ “ลำไทร” พื้นที่นี้มีต้นไทรมากโข โตเป็นที่น่าประทับใจ

ย่านลำไทร เป็นพื้นที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาร่วมร้อยกว่าปี หลังจากขุดลำคลองสิบเอ็ด และสิบสองในปี ร.ศ. 115 (พ.ศ. 2440) กลุ่มฝรั่งมังค่า เข้ามาซื้อที่ดินแปดพันไร่ โดยรวมเงินเถ้าแก่วัดกาลหว่าร์ในเมืองบางกอก และแบ่งให้ไทยจีนแลญวณเข้ามาทำมาหากิน ใกล้วัดฝรั่ง

ความเจริญ ลำไทรนี้เปรียบดัง เมืองเวนิส การค้าการขายเจริญมาก จนได้รับการขนานนามว่า ในกลุ่มจีนเจ๊กว่า “ทั้งจี้คองจับหยี่ ชั่วโบ้คองไชชี” มีความหมายว่า การค้าต้องที่คลองสิบสอง หาคู่ครองต้องสาวนครชัยศรี

การค้าตลาดร้านรวง – แต่เดิมกลุ่มจีนเข้ามาเปิดตลาดค้าขาย การค้าเฟื่องฟู มีโรงสีวิกิตเศรษฐ โรงสีแสงสูง แลโรงสีแสงทอง เป็นแหล่งค้าข้าวใหญ่ ใครใคร่รวยรวย ใคร่งานงาน คนต่างมุ่งหน้ามุ่งตามา ดังคำว่า “คนนครชัยศรีนี้ขยันนัก ถ่อเรือประทุนมารับจ้างเกี่ยวข้าวเป็นประจำทุกปี”

ตลาดสิบสองนั้นเคย อาหารมิขาด รสชาติมิลืม คนมากทุกร้าน ดังคำล่ำลือไปไกล ดังเช่น ราดหน้าตาแป๊ะซี่จับ ก๋วยเตี๋ยวและเป็ดพะโล้เก้งโก้ หมูพะโล้เก๋งเฮง ก๋วยเตี๋ยวเซ็งเข่าเก่ง ก๋วยเตี๋ยวปึงถ่งฮวด โรงงานทำเส้นเหล่าถึง แลของหวานขนมมากมายต่างวางเรียงรายขาย ขนมถ้วยฟูข้าวต้มมัดเจ๊ป่วยกี ขนมขี้หนู ยายซิ้มหนู ยามเช้าร้านกาแฟกิมช้วน แหล่งรวมเพื่อดื่มกินแลพบปะคุยกัน แต่ประเดี๋ยวนี้จักย้ายถิ่นฐานไป เหลือแต่กลิ่นอายความหลัง และความรู้สึก ยังให้เชยชม

ก่อนนี้ ใครใคร่ดูจักดู หนังไทย หนังฝรั่ง ก็มาตลาด จีนไหนใคร่ดูงิ้วก็มา ต่างคนต่างถ่อเรือ ต่างมาลัดทุ่ง ข้ามนาข้ามข้าวมาเที่ยวมาเยือน มิขาดสาย สองยามยังไม่วาย ตอนนี้เหลือเพียงความทรงจำของผู้เฒ่าผู้แก่

การบวชเรียน ลูกไทย ลูกเจ๊ก ลูกญวณ ใคร่เรียนจีนเรียนโรงเรียนเจ๊งเคี้ยว (ประชาเจริญ) ใคร่เรียนไทยเรียน วัดลำไทร เรียนฝรั่งเรียน พระวิสุทธิวงส์ บังดำรงต่อมาถึงเพลานี้

วัดฝรั่ง – พวกไทย จีน ญวณ แถวนี้มักเป็นคริสต์ตามฝรั่ง วัดไม้ไผ่เล็กๆ เรียกว่าวัดครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ทำพิธี เริ่มมีแต่ ร.ศ. 114 (พ.ศ. 2432)

ในภายต่อมา ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2453) อาคารไม้ไผ่ปรับปรุงเป็นอิฐ เป็นปูน ลวดลายตามฝรั่ง ภายในจักแต่งเป็นกากบาทกางเขนโรมัน กระจกสีแปลกตามาจากประเทศฝรั่ง มีหอระฆังใหญ่โตน่าดูชมยิ่งนัก แลเปลี่ยนชื่อให้ทันสมัยว่า “วัดพระวิสุทธิวงส์”

ครั้นปี ร.ศ. 207 (พ.ศ. 2543) ช่างศิลปะได้วาดภาพฝรั่งมิสวมเสื้อสวมผ้า น่าแปลกใจ ยังแต่ดูงามไม่น่าอาย ภาพนั้นเรียกว่า “การตัดสินครั้งสุดท้าย” เลียนตามวัดฝรั่งในเมืองวาติกัน เป็นที่ต้องตาคนดู ต้องหูคนฟัง ต้องใจคนเจริญ หากแต่คนนั้นประสงค์จะพินิจดูความ”


ฝั่งตรงข้ามกัน ยังมีกระดาษโปสเตอร์ เขียนด้วยลายมือตัวบรรจงอีกสองป้าย ซึ่งตอนนี้ตัวหนังสือเริ่มเลือนรางไปตามกาลเวลา ขอหยิบยกเริ่มจากป้ายตรงกลาง ประวัติโรงเรียนเก่าประชาเจริญ ความว่า
“หลังจากที่ท่านขุนอนุสรณ์มหาศาลได้สร้างตลาดคลอง 12 หกวาขึ้นในปี พ.ศ. 2448 ต่อมาในปี พ.ศ. 2468 ท่านได้ร่วมกับ 4 ตระกูล คือ 1. แซ่ตั๊ง (สุริยะมงคล) 2. แซ่ปิง (วิกิตเศรษฐ์) 3. แซ่ลี่ (วงศ์พานิช) 4. แซ่เอี๊ยว (ศุภเศวตหิรัญ) 5. แซ่โง้ว (โง้วก้าวโฮ้ว) สร้างโรงเรียนเพื่อให้ลูกหลานของคนในตลาดมีที่เล่าเรียน ปี พ.ศ. 2468 เปิดทำการสอนระดับ ป.เตรียมเล็ก-ใหญ่ (อนุบาล 1-2) ระดับประถม 1-4 สอนภาษาไทย, จีน ใช้ชื่อโรงเรียนว่า “เจ๋งเม้ง” ปี พ.ศ. 2488 จอมพล ป. สั่งให้หยุดสอนภาษาจีน โรงเรียนจึงได้ปิดตัวลง

ปี พ.ศ. 2491 ได้เปิดทำการสอนอีกครั้ง เปลี่ยนชื่อจาก “เจ๋งเม้ง” เป็น “เจ๋งเคี้ยว” ใช้ชื่อไทยว่า “ประชาเจริญ” อักษรย่อ ป.ช. เสื้อขาวกางเกงสีกากี สีประจำโรงเรียนสีเหลืองแดง รายได้ของโรงเรียนได้จากค่าเล่าเรียนราคาถูกและเงินบริจาคโดยมีงานประจำปีในเดือนตุลาคม มีงิ้ว ภาพยนตร์ กรรมการโรงเรียนซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากการกากบาทลงคะแนนในใบเลือกตั้งร่วมกันทำพิธีคำนับศพแบบจีน (กงจี่) ได้เงินบริจาคตามกำลังศรัทธาจากเจ้าของงาน

เหตุที่เป็นโรงเรียนเอกชนจึงได้รับเงินอุดหนุนจากทางราชการน้อยไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ได้มีการจดจัดตั้งสมาคมศิษย์เก่าประชาเจริญ เพื่อช่วยสนับสนุนเงินทุนและจัดตั้งโรงเรียนเป็นมูลนิธิ ใช้ชื่อว่า “มูลนิธิการศึกษาประชาเจริญ” อักษรย่อ “ม.ป.ช.” จึงได้รับเงินอุดหนุนเต็มและโครงการอาหารกลางวัน ปี พ.ศ. 2528 เปิดเรียนฟรี ปี พ.ศ. 2517 ได้สร้างอาคารปูน 2 ชั้น พร้อมขยายพื้นที่ทางทิศใต้ออกไป เปลี่ยนการสอนเป็น 3 ภาษา จีน, ไทย, อังกฤษ ระดับชั้นเรียนอนุบาล 1-3 ประถม 1-6 ต่อมาเปลี่ยนการสอนภาษาจีนแต้จิ๋วเป็นจีนกลาง

ปี พ.ศ. 2555 ได้ย้ายโรงเรียนไปที่การเคหะตรงข้ามโรงพยาบาลลำลูกกา เปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิภูมิตะวันวิทยา” ในปัจจุบัน เป็นเวลา 87 ปีที่โรงเรียนเก่าแก่อยู่คู่ตลาดคลอง 12 หกวา ความผูกพันธ์รำลึกถึงเชื่อว่ายังคงอยู่ในใจของคนในตลาดเก่าตลอดไป (นี่คือหนึ่งในความหลังและความทรงจำ)”

น่าเสียดายตรงที่ อาคารโรงเรียนเก่าประชาเจริญ บัดนี้ถูกรื้อทำลายไปแล้ว กลายเป็นลานจอดรถ เหลือเพียงแค่แบบจำลองที่ชาวบ้านจัดทำขึ้นมา แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป แบบจำลองก็เริ่มเปื่อยยุ่ยขึ้นเรื่อยๆ

ป้ายด้านซ้ายสุด เป็นบทกลอน “บันทึกเหตุการณ์ ปี 2554” ซึ่งช่วงนั้นเป็นปีที่มีมหาอุทกภัย ความว่า

“ปี 54 เป็นปีที่ ควรหวนคิด
วิปริต วิกฤตน้ำ มาจากไหน
ธรรมชาติ บันดาล ให้เกิดภัย
หรือว่าใคร นำน้ำมา น้ำตานอง

หลายจังหวัด ทนอึดอัด กับน้องน้ำ
แสนชอกช้ำ ระกำใจ ไทยทั้งผอง
ทั้งขับถ่าย การกิน การหลับนอน
สุดอาวรณ์ ทรัพย์สิน สูญสิ้นไป

ถูกตอกย้ำ ซ้ำสูญ โรงเรียนเก่า
ที่เคยเล่า เรียนศึกษา มานานหลาย
บางคนนึก ตึกใหญ่โต โก้สบาย
แต่กลับกลาย ทำลายจิต ศิษย์เก่าเดิม

แสนสุขศรี 100 ปี พระวิสุทธิ
งามผ่องผุด ฉุดความหวัง พลังเพิ่ม
เอกลักษณ์ คงไว้ ได้เหมือนเดิม
ช่วยสร้างเสริม เติมใจ ให้เป็นคน

ตลาดเก่า เล่ายี่ห้อ พอมีหวัง
คิดสร้างสรร จรรโลงไว้ ได้เห็นผล
ผู้มาเยือน พร้อมเพื่อนพ้อง จ้องมายล
ล้วนชื่นชม บ้านโบราณ ตระการตา

สิ่งที่เขียน เพียงหวัง ให้ได้คิด
มุ่งใช้จิต สำนึก ฝึกศึกษา
ทุกสิ่งอย่าง ที่เป็นไป มีที่มา
พัฒนา รู้แก้ไข ใครก็ชม”

ด้านขวาสุด เป็นป้ายประวัติ “ศาลเจ้าทีกงทีม่า” ความว่า

“จากความเชื่อที่ติดตัวมากับชาวจีนที่อพยพมาทำมาหากินทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ย่านตลาดเก่า 100 ปีคลอง 12 หกวา คือการเคารพต่อฟ้าดินและบรรพบุรุษ ด้วยความเชื่อเหล่านี้ก่อให้เกิดเป็นประเพณีไหว้เจ้าขึ้น ต้นกำเนิดของศาลเจ้าทีกงทีม่าแห่งนี้ มีที่มาจากความเชื่อเหล่านี้เช่นกัน

เมื่อชาวจีนได้อพยพมาสู่ลำไทร มีการค้าขายเกิดขึ้น และเพื่อเป็นการระลึกถึงแผ่นดินเกิด ครอบครัวที่เดินทางกลับไปเยี่ยมญาติที่ประเทศจีนได้นำเอาดินกลับมาด้วยและนำดินมาฝังในชุมชนพร้อมทั้งนำไม้ไผ่มาปักและจุดธูปไหว้ จากความเชื่อและวิถีนี้รวมกับการค้าขายที่เจริญรุ่งเรืองขึ้น คนในชุมชนจึงได้ร่วมกันสร้างศาลเจ้าทีกงทีม่าขึ้นในปี พ.ศ. 2466 และเป็นสถานที่สำคัญเป็นที่เคารพนับถือของคนในชุมชนจนถึงปัจจุบัน

จากศาลเจ้าขนาดเล็กมีการบูรณะจนเป็นศาลเจ้าที่มีความสวยงามเป็นสิ่งสะท้อนถึงความกตัญญูรู้คุณ ดังความหมายของศาลเจ้า “ที” แปลว่าท้องฟ้าหรือสวรรค์ “กง” แปลว่าปู่หรือตา “ม่า” แปลว่าย่าหรือยาย ส่วนตรงศาลที่สักการะ (ที ตี่ แป๋ บ้อ) มีความหมายว่า ฟ้า ดิน พ่อ แม้ ใช้แทนบรรพบุรุษในชั้นตระกูล ศาลเจ้าแห่งนี้จึงเป็นตัวแทนเทพเจ้าและบรรพบุรุษ ยังเปรียบเสมือนเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ โดยปลายยอดไม้ไผ่นั้นแขวนโคมไฟกระดาษสีแดง (เตงลั้ง) ซึ่งบ่งบอกถึงความสุขความเจริญ

ในทุกปี จะมีการจัดงานประจำปีของศาลเจ้า โดยนับจากหลังหมดเทศกาลกินเจแล้ว 2 วัน ปกติมีการจัดงาน 5 คืน ในแต่ละคืนจะมีการแสดงงิ้วถวาย วันที่สองของงานเป็นวันไหว้เจ้า ตอนกลางคืนมีการประมูลเพื่อเป็นศิริมงคล ในคืนสุดท้ายมีพิธีอัญเชิญเจ้ามาสถิตย์ ณ ศาลด้านนอก (ริมคลอง) และจัดพิธีเผาของไหว้ (เฮี้ยงเพ้า)

คนจีนในตลาดเก่าส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ แต่ความเชื่อนี้ก็ถูกจัดขึ้นทุกปี การไหว้สักการะศาลเจ้าทีกงทีม่าแห่งนี้ คนในชุมชนมีความศรัทธา เชื่อว่าสามารถช่วยเหลือทั้งทางด้านค้าขาย สุขภาพ และปัดเป่าเพทภัยพิบัติต่างๆ มาโดยตลอด”

อันที่จริงจะสรุปความจากข้อมูลข้างต้นก็ได้ แต่ที่หยิบยกมาให้อ่านทั้งหมด นอกจากคุณผู้อ่านจะได้เห็นภาพด้วยตัวเองแล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ศูนย์ประชาสัมพันธ์จุดนี้เริ่มมีสภาพทรุดโทรมตามสภาพตลาด

อย่างน้อย ขอใช้พื้นที่ตรงนี้ บันทึกข้อมูลไว้เป็นข้อมูลประวัติศาสตร์ไว้ก็ยังดี


เดินเข้าไปด้านในตลาด 100 ปีคลอง 12 หกวาด้วยความสำรวม ในฐานะคนแปลกหน้าคนหนึ่ง สักพักจะพบกับร้านกาแฟ ร้านค้า ตามมาด้วยสะพาน 100 ปี เป็นสะพานไม้เล็กๆ พอให้คนและรถจักรยานยนต์ข้ามผ่านไปมา

มองไปทางซ้าย จะเห็นจุดตัดระหว่างคลอง 12 กับคลองหกวาสายล่าง ซึ่งเป็นคลองที่รับน้ำลงมาเพื่อการเกษตรและการสัญจรทางน้ำในอดีต และเมื่อมองไปไกลๆ จะเห็นสะพานคลอง 12 ของถนนลำลูกกา

ลงจากสะพานจะเห็นป้ายบอกทาง ถ้าตรงไปจะเป็นโรงถ่ายละครเก่า ส่วนด้านขวาจะเป็นทางเดินไปศาลเจ้าทีกงทีม่า เป็นทางเดินเล็กๆ เฉพาะคนเดินเท้าและรถจักรยานยนต์ เดินมาสักพักก็มาถึงศาลเจ้า

ป้ายบอกทางระบุว่า “จุดธูป 5 ดอก พร้อมตั้งจิตอธิษฐาน ขอพรให้ชีวิตประสบความสำเร็จในทุกๆ ด้าน สัมฤทธิ์ผลในสิ่งที่หวัง จาก “ทีกงทีม่า” สถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่ศรัทธากราบไหว้ของชาวชุมชนตลาดคลอง 12 หกวาและชุมชนใกล้เคียงมายาวนาน”


ศาลเจ้าทีกงทีม่า ตั้งอยู่ริมคลอง 12 มีซุ้มหลังคาและเสารูปมังกร ทางเข้ารถยนต์จะอยู่ฝั่งถนนลำไทร-หนองจอก (ถนนประชาสำราญ) ซึ่งจะไปออกวัดพืชอุดม ถนนลำลูกกา โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย ปทุมธานี

อีกสถานที่หนึ่งที่พยายามตามหาก็หาไม่เจอ คือ โรงพักเก่า พยายามถามชาวบ้านที่ผ่านไปมา ชี้ไปที่ถนนใหญ่ ซึ่งเราไม่เห็นว่าจะมีอาคารอะไรนอกจากเป็นทุ่งนากว้างๆ กับถนนใหญ่ที่จะไปทางหนองจอก

ปรากฏว่ากลับมาค้น Google Maps อีกที พบว่าต้องไปออกถนนใหญ่ แล้วจะเห็นซอยเล็กๆ อยู่ตรงหัวโค้ง ผ่านบ้านคน กำแพงรั้ว แล้วจะเจอโรงพักเก่าคลองสิบสอง เห็น ภาพแบบ 360 องศา แล้วน่าจะเป็นมุมถ่ายรูปที่น่าสนใจ


สถานีตำรวจภูธรคลองสิบสอง ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2481 ใช้ศาลาการเปรียญของ วัดมงคลรัตน์ (วัดลำไทร) เป็นที่ทำการ มีตำรวจ 6 นาย ออกตรวจปราบปรามจับกุม ส่งมอบอำนาจสอบสวนดำเนินคดีที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอลำลูกกา

ต่อมา วันที่ 4 พฤศจิกายน 2483 นางชุนฮวย (นางกมล พูลศิริ) ได้ยกที่ดิน 1 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา เลขที่ 35 หมู่ที่ 1 ตำบลลำไทร เพื่อก่อตั้งสถานี และบ้านพักนายสิบพลตำรวจ ซึ่งเป็นที่ทำการและพักอาศัยชั่วคราว

กระทั่งปี พ.ศ. 2512 มีการปรับปรุงจำหน่ายตัวอาคารสถานีตำรวจหลังเดิม เพื่อรองรับการขยายตัวของกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และจำหน่ายบ้านพักนายสิบพลตำรวจเดิมเมื่อปี พ.ศ. 2514

ตัวสถานีตำรวจ ได้สร้างขึ้นใหม่เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2513 เพิ่มอัตรากำลังข้าราชการตำรวจเป็น 15 นาย กระทั่งปี พ.ศ. 2532 กรมตำรวจเห็นว่ามีประชากรเพิ่มขึ้น จึงได้ขยายอัตรากำลังเพิ่มเป็น 20 นาย

อีกทั้งยกฐานะสถานีให้มีอำนาจการสอบสวน เทียบเท่าสถานีตำรวจภูธรอำเภอ และมีการปรับปรุงพัฒนาด้านอาคารสถานที่เพื่อให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงานเรื่อยมา และมีการยกฐานะเพิ่มขึ้นอีก 3 ครั้ง

ได้แก่ พ.ศ. 2534 ยกฐานะสถานีตำรวจ มีสารวัตรเป็นหัวหน้าสถานี, พ.ศ. 2545 ยกฐานะสถานีตำรวจ รองผู้กำกับการเป็นหัวหน้าสถานี และเดือนพฤศจิกายน 2550 ได้เปลี่ยนตำแหน่งหัวหน้าสถานี เป็นสารวัตรใหญ่

วันที่ 31 มกราคม 2555 ได้รับการยกฐานะสถานีตำรวจจากระดับสารวัตรใหญ่ ขึ้นเป็นผู้กำกับการหัวหน้าสถานี และได้ย้ายไปยังที่ทำการหลังใหม่ บนพื้นที่ของการเคหะแห่งชาติ ภายใน โครงการลำลูกกาเมืองใหม่ หมู่ 9 ต.ลำไทร

จากที่ได้สแกนคิวอาร์โค้ด ชมภาพเสมือนจริง (Virtual Reality) พบว่าโรงพักแห่งนี้ยังคงสภาพตัวอาคารดั้งเดิมไว้อยู่ ซึ่งชั้นบนเป็นโต๊ะทำงานและห้องควบคุมผู้ต้องขัง แต่บ้านพักตำรวจยังคงมีข้าราชการตำรวจอาศัยอยู่

เข้าใจว่าเดิมการเคหะแห่งชาติมีแนวคิดที่จะพัฒนาที่ดินตรงข้ามโรงพยาบาลลำลูกกา ให้เป็นโครงการลำลูกกาเมืองใหม่ โดยย้ายโรงเรียนมูลนิธิภูมิตะวันวิทยา และสถานีตำรวจภูธรคลองสิบสองมาอยู่ตรงนี้

แต่นอกเหนือจากโรงเรียน โรงพัก และที่ทำการเทศบาลตำบลลำไทรแล้ว ยังไม่มีการพัฒนาโครงการใดๆ ออกมา ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคต หากการขยายตัวของชุมชนเมืองโซนลำลูกกาเพิ่มมากขึ้น

ที่มาที่ไปของ โรงพยาบาลลำลูกกา มาจากปี พ.ศ. 2507 ได้รับเงินบริจาคที่ดิน จำนวน 6 ไร่ จากบริษัท ทำนาลำไทร จำกัด และได้รับบริจาคในการก่อสร้างจากมูลนิธิอุดหนุนพระวิสุทธิวงส์ เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2510

พ.ศ. 2517 ยกฐานะเป็นศูนย์การแพทย์และอนามัยชนบท, พ.ศ. 2518 ยกฐานะเป็นศูนย์การแพทย์และอนามัยชั้น 1 และปี พ.ศ.2522 ยกฐานะเป็นโรงพยาบาลลำลูกกา มีขนาด 5 เตียง ไม่เพียงพอที่จะให้บริการแก่ผู้ป่วยได้

พ.ศ. 2528 มูลนิธิอุดหนุน พระวิสุทธิวงส์ร่วมกับศูนย์สังฆมณฑล กรุงเทพฯ ได้ประสานงานเพื่อขอรับบริจาคที่ดินเพิ่มเติมจาก บริษัท ทำนาลำไทร จำกัด อีก 19 ไร่ 1 งาน 40 วา รวมกับที่ดินเดิมเป็น 25 ไร่

และร่วมกับประชาชนผู้มีจิตศรัทธาได้รับบริจาคเงิน ก่อสร้างอาคารผู้ป่วย 10 เตียง (ปัจจุบัน ชื่ออาคาร อุทัย – สุวกุล ลิ้มเจริญ) ตามแบบของกระทรวงสาธารณสุขแล้วเสร็จและเปิดให้บริการวันที่ 5 พฤษภาคม 2532

ปีงบประมาณ 2539 ก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก – ผู้ป่วยใน 30 เตียง แล้วเสร็จ พ.ศ. 2540 เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2541 ถึงปัจจุบัน และถือเป็นวันทำบุญประจำปี ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ของทุกปี


เราเดินกลับไปรอรถเมล์ที่หน้าตลาดคลอง 12 ลำไทรอีกครั้ง สังเกตว่าแม้จะมีรถเมล์ไฟฟ้าจากมีนบุรีเข้ามาสองคัน แต่ก็ไม่มาสักที กระทั่งมีแท็กซี่คันหนึ่งส่งสัญญาณมือ จึงตัดสินใจโบกแท็กซี่กลับไปหนองจอก

โชเฟอร์แท็กซี่เล่าให้ฟังว่า ถ้ามาช่วงกลางวันไม่มีอะไร แต่จะคึกคักในช่วงเย็น เพราะที่ตลาดคลอง 12 แห่งนี้ มีตลาดนัดขนาดใหญ่ เปิดขายสินค้าและอาหารตั้งแต่เย็นจรดค่ำ มีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศมาอุดหนุน

เขาเล่าว่า ชาวหนองจอกส่วนหนึ่งยอมขับรถไป-กลับร่วม 20 กิโลเมตรเพื่อมาซื้อกับข้าวที่ตลาดคลอง 12 กลับไปทานที่บ้านก็มี เพราะบางคนเบื่อกับข้าวที่ตลาดหนองจอก อยากเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง

การได้มาเยือนตลาดคลอง 12 ลำไทรโดยบังเอิญ นอกจากจะได้พบกับตลาดเก่า 100 ปี ที่กำลังจะเลือนหายไปตามกาลเวลาแล้ว ยังได้ทราบถึงการกำเนิดของวัดฝรั่ง หรือวัดพระวิสุทธิวงส์ และชุมชนที่เกิดขึ้นหลังการขุดคลองหกวา

โดยลักษณะชุมชนริมน้ำ ตลาด 100 ปี ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการขุดคลองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่ทำให้เกิดการคมนาคมทางน้ำและค้าขายอันรุ่งเรืองในเวลานั้น

อีกทั้งยังได้เห็นความเป็นพหุวัฒนธรรม แม้ชาวตลาดคลอง 12 หกวาจะนับถือศาสนาคริสต์ แต่สำหรับคนไทยเชื้อสายจีน ก็ยังมีประเพณีไหว้เจ้า มีศาลเจ้า จากความเชื่อต่อการเคารพต่อฟ้าดินและบรรพบุรุษ

ใครที่มีเวลาแล้วไม่รู้จะไปไหน ตั้งต้นจากตลาดมีนบุรี นั่งรถเมล์ไฟฟ้าสายนี้มาเยือนที่นี่ก็ได้ ชมความเป็นบ้านนอกกรุงเทพฯ แล้วมาเยือนตลาด 100 ปี ขากลับถ้ารอรถเมล์นานไป โบกแท็กซี่ไปหนองจอก ประมาณ 120 บาท

แม้สภาพตลาด 100 ปีคลอง 12 หกวา จะทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่วันนี้ยังเหลือร่อยรอยอดีตไว้ให้เราได้ศึกษาตำนานที่เคยรุ่งเรือง กระทั่งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงถึงปัจจุบัน

Exit mobile version