สนามข่าว 7 สี – จากเหตุกราดยิงที่หนองบัวลำภู นำไปสู่การตื่นตัวของหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน โดยมีการประกาศจะคุมเข้มมากขึ้น ทำได้จริงแค่ไหน ปัจจุบันการครอบครองอาวุธปืนของคนไทยเป็นอย่างไร ถึงเวลาต้องแก้ไขกฎหมายการครอบครองปืนหรือยัง
เป็นเสียงสะท้อนจากอดีตพระเอกชื่อดัง พอล ภัทรพล ศิลปาจารย์ นำกรณีตัวอย่างจากประเทศนิวซีแลนด์ ที่ผ่านสถานการณ์ยากลำบากจากโศกนาฏกรรมกราดยิงในมัสยิดสองแห่งในเมืองไครซ์เชิร์ช เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2562 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 50 คน มากระตุ้นผู้มีอำนาจในไทยว่า ถึงเวลาต้องออกกฎหมายควบคุมอาวุธปืนใหม่หรือไม่ นิวซีแลนด์ใช้เวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์ ลงมติผ่านร่างกฎหมายห้ามการจำหน่าย และการใช้อาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติ ซึ่งเป็นอาวุธปืนชนิดเดียวกับที่คนร้ายใช้ก่อเหตุสังหารหมู่ แต่ในประเทศไทยกลับเห็นแต่คำพูดถอดบทเรียน ที่ยังไร้วี่แววจะนำไปสู่การปฏิบัติ
มีงานวิจัยของอาจารย์ชาติชาย วิริยะเจริญกิจ และอาจารย์สุรัสวดี แสนสุข เกี่ยวกับมาตรการควบคุมอาวุธปืนในประเทศไทย ที่ทำไว้ในปี 2562 พบจุดอ่อนที่ควรแก้ไข 4 ประเด็น คือ การออกใบอนุญาตง่ายเกินไป ให้เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ไม่มีการกำหนดอายุการครอบครอง เพื่อกลับมาตรวจสอบความเหมาะสมในการครอบครอง หนึ่งคนขออนุญาตได้มากกว่า 1 กระบอก และการควบคุมปืนเถื่อนยังไร้ประสิทธิภาพ จากการครอบครองอาวุธปืนที่ง่าย ก็ทำให้สถิติคดีจากอาวุธปืนเพิ่มขึ้นทุกปี จึงหวังว่าจากเหตุกราดยิงครั้งนี้ จะไม่หยุดอยู่แค่การพูดว่าจะถอดบทเรียน แต่ควรนำไปสู่การกำหนดแผนแก้ไขโดยผู้มีอำนาจอย่างจริงจัง
จากการสำรวจข้อมูลการครอบครองอาวุธปืนของคนไทย จนถึงวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา พบมีการครอบครองอาวุธปืนสั้น จำนวน 3,916,423 กระบอก อาวุธปืนยาว จำนวน 2,218,642 กระบอก รวมทั้งสิ้น 6,135,065 กระบอก ยังไม่นับรวมปืนเถื่อน ที่ซื้อง่ายขายคล่องในโลกออนไลน์ ที่อาจมีมากกว่า 4 ล้านกระบอก
จากสถิติการก่อคดีอาชญากรรมเกี่ยวข้องกับอาวุธปืนพบว่าปี 2564 มีเหตุเกิดขึ้นมากถึง 39,044 คดี ผู้ต้องหา 38,583 คน แบ่งเป็นอาวุธปืนสงคราม 393 คดี อาวุธปืนทั่วไปไม่มีทะเบียน 17,430 คดี อาวุธปืนมีทะเบียน 1,620 คดี ผู้ต้องหา 1,630 คน
ถัดมาปี 2565 ข้อมูลถึงวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา พบสถิติการก่อเหตุโดยใช้อาวุธปืนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จาก 39,000 คดี เพิ่มเป็น 84,307 คดี ผู้ต้องหา 82,589 คน แบ่งเป็นคดีเกี่ยวกับอาวุธปืนสงครามที่ไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ 649 คดี อาวุธปืนทั่วไปที่ไม่มีทะเบียน 22,914 คดี เช่นเดียวกับการก่อเหตุโดยใช้อาวุธปืนที่มีทะเบียนเพิ่มมากกว่า 400 คดี เป็น 2,092 คดี มีผู้ต้องหา 2,076 คน
ทุกวันนี้เหมือนเจ้าหน้าที่มีประชาชนเป็นตัวประกัน มุมมองเกี่ยวกับปืนจากคนที่คลุกคลีวงการสีกากี แม้ปัจจุบันจะไม่มีบทบาทแล้ว แต่ก็ยังชื่นชอบและรักการสะสมปืน บอกว่าการเข้าถึงปืนในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่มีเงินก็สามารถทำได้ จะเห็นได้จากพวกพ่อค้ายาเสพติดเวลาถูกจับ นอกจากยาเสพติด สิ่งที่เห็นควบคู่คือปืน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นปืนมีทะเบียน
ส่วนแนวความคิดแบบประเทศนิวซีแลนด์ ที่ให้ควบคุมและรัฐรับซื้อซื้อปืนคืนนั้น ส่วนตัวพร้อมให้ความร่วมมือ แต่รัฐทำให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยหรือยัง หากปลอดภัยประชาชนไม่จำเป็นต้องมีปืนก็ได้
จากเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู สังคมไทยไม่ควรหยุดอยู่ที่แค่ความเศร้าโศกสะเทือนใจ แต่ต้องแปรเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ลูกหลายเราปลอดภัยในอนาคต ถึงเวลาเลิกถอดบทเรียนแล้วหันมาปฏิบัติจริง เพื่อไม่ให้โศกนาฎกรรมเกิดขึ้นซ้ำในอนาคต