Site icon เว็บไซต์บางแสน

ตำนานสุนทราภรณ์ (11)

default-pic.jpg

วันที่ 22 มี.ค. 2565 เวลา 14:22 น.

ตำนานสุนทราภรณ์ (11)

โดย…น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

**********

หนังสือชุด 82 ปี สุนทราภรณ์ อนุสรณ์ฝากไว้ เล่มที่ 6 เป็นเรื่องราวของ ชอุ่ม ปัญจพรรค์ พี่สาวคนโตของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ “คีตา พญาไท” (นามปากกาของคุณไพบูลย์ สำราญภูติ) ได้ตั้งฉายาชอุ่ม ปัญจพรรค์ โดยตั้งเป็นชื่อรองของหนังสือเล่มนี้ว่า “คีตกวีผู้สร้างสรรค์บทเพลงหวาน อันแสนไพเราะ” ซึ่งเป็นสมญานามที่เหมาะสม เพราะชอุ่ม ปัญจพรรค์ แต่งเนื้อร้องของเพลงหวานๆ ไว้ไม่น้อย และหลายเพลงได้รับความนิยมอย่างสูง

เช่น “เพลงถึงเธอ” ซึ่งขึ้นต้นว่า “จำเรียงถ้อย ร้อยคำ ทำเป็นเพลง ให้วังเวง เสนาะจิต คิดถวิล …” เป็นเพลงสั้นๆ ด้วยคำกลอนเพียง 2 บท แต่งทำนองโดยครูเอื้อ สุนทรสนาน ขับร้องโดย รวงทอง ทองลั่นธม เป็นเพลงที่ไพเราะ หวานซึ้ง ตรึงใจผู้คนมายาวนาน โดยเฉพาะถ้าเปิดตอนดึกๆ

ในหนังสือเล่มนี้ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเพลงนี้จากความทรงจำของหลายคนซึ่งแตกต่างกัน ล้วนน่าสนใจ โดยผู้เขียนเล่าว่า เพลงนี้ “เดิมทีนั้น ตั้งใจจะให้นักร้องฝ่ายชายเป็นผู้ขับร้อง แต่กลับกลายมาเป็นนักร้องฝ่ายหญิง เป็นผู้ขับร้องแทน และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นเพลงอมตะ ที่ฟังได้ไม่รู้จักเบื่อ เพราะมี ความไพเราะมีความหมายที่สอดคล้องต้องกัน และให้อารมณ์ในการฟังมาก ไม่แพ้เพลงอมตะอื่นๆ เลย”

ซึ่งตรงกับข้อความในเว็บไซต์บ้านคนรักสุนทราภรณ์ เขียนไว้ว่า “… ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เล่าไว้ในรายการศุกร์กันเถอะเรา ที่ช่อง 5 ว่า ครูเอื้อท่านแต่งเพลงนี้ให้ท่านขับร้อง แต่ในวันบันทึกเสียงคุณชายถนัดศรีท่านร้องหลายครั้ง จนเสียงแหบก็ยังไม่ถูกใจ จนใกล้เวลาต้องคืนห้องบันทึกเสียง จึงให้คุณรวงทองมาร้อง คุณรวงทอง ท่านร้องครั้งเดียวใช้ได้เลย ….” ซึ่งมีผู้ใช้นามว่า “คุณโย่ง” เขียนต่อว่า “คุณพี่รวงทอง เคยเล่าต่อให้ฟังว่า เหตุที่นักร้องชายท่านนั้น … ร้องไม่ได้ดีเท่าที่ควร เพราะว่าเมื่อคืนก่อน ‘หนัก’ ไปหน่อย ท่านครูเอื้อฉุนขาด สั่งให้นักดนตรีดึงโน้ตให้สูงขึ้นไปอีก เสียงคุณพี่รวงทองจึงสูง ใสกังวาน มากครับ” (เล่มม 6 น. 146-149)

หากพิจารณาเนื้อร้อง แม้ผู้แต่งคือคุณชอุ่ม ปัญจพรรค์ จะเป็นผู้หญิง แต่เนื้อความจะเป็นของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ทั้งนี้คุณชอุ่ม เขียนเพลงสำหรับผู้ชายไว้จำนวนมาก เช่น “เพลงจูบพี่ไม่มีพิษ” คุณชอุ่ม ก็เขียนเล่าไว้ในหนังสือ “คอนเสริต์ 82 ปี ชอุ่ม ปัญจพรรด์” ว่า “เพลงนี้ชอุ่ม แต่งเป็นคำกลอนให้ครูเอื้อไว้เป็นสิบๆ ปีแล้ว เพิ่งมาใส่ทำนองเพลงเกือบสุดท้าย เมื่อใกล้จากกัน เป็นเพลงที่ผู้ชายว่าผู้หญิงหลายใจหลายรัก … เวลาแต่งเพลงชอุ่มมักสมมุติตนเองว่าเป็นผู้ชายทุกที …” (น. 144)

อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับเพลงถึงเธอนี้ ชอุ่ม ปัญจพรรด์ น่าจะจำผิด เมื่อเขียนเล่าไว้ในหนังสือ “รวมเพลง รวงทอง รวงทอง ทองลั่นธม ครึ่งศตรวรรษ” ว่า “พี่อุ่มแต่งให้น้องเล็ก ของพี่…. โดยเฉพาะ เพราะคำร้องเป็นความรู้สึกในใจของพี่ ที่มีต่อเพื่อนๆ คนรู้จักชอบพอ แฟนหนังสือ และแฟนเพลงทั้งหลาย …”

“น้องเล็ก” ในที่นี้คือ รวงทอง ทองลั่นธม ซึ่งนับถือครูชอุ่ม ปัญจพรรด์ เป็นพี่ ชื่อเดิมคือ “ทองก้อน” ชื่อเล่น “เล็ก” ครูชอุ่ม คงจำสับสนกับอีกเพลงหนึ่งซึ่งแต่งให้ “น้องเล็ก” เป็นการเฉพาะ และทำให้ “น้องเล็ก” “แจ้งเกิด” ในวงการเพลงฉับพลันทันที คือ “เพลงรักบังใบ” ที่ขึ้นต้นว่า “กามเทพหลอกลวง เสียบศร ปักทรวง ให้ห่วงหา ให้รัก แล้วใยมา ลิดรักรา แรมไกล…” ซึ่งเพลงนี้ครูเอื้อเขียนไว้ในหนังสือ “รวมเพลงรวงทอง : รวงทอง ทองลั่นธม ครึ่งศตรวรรษ” ว่า สียง เมื่อสิ้นเสียงเพลง ของเธอ บรรดาแฟนเพลงในกรมประชาสัมพันธ์ถึงกับวิ่งกันเกรียวกราวมาขอดูตัวผู้ร้อง ตลอด

“รวงทองเป็นศิษย์ของผมคนหนึ่งในจำนวนหลายๆ คน ที่ผมภาคภูมิใจมาก… ตลอดเวลาที่อยู่ในความรับผิดชอบของผม ตั้งแต่อายุ 17 ปี ได้เริ่มต้นฝึกหัดร้องเพลงอยู่กับวงสุนทราภรณ์เพียง 2 ปี ได้ร้องเพลงแรกชื่อรักบังใบ จากคำร้องของชอุ่ม ปัญจพรรด์ ร้องส่งวิทยุกระจายเจนผู้หลักผู้ใหญ่และ ผู้อุปการะวงดนตรีได้ให้ความสนใจโทรศัพท์มาไต่ถามและขอฟังเพลงนี้อีกหลายครั้ง ในรายการเดียวกัน”

รวงทอง ทองลั่นธม พบครูชอุ่ม ปัญจพรรด์ ครั้งแรกในบ้านครูเอื้อ เมื่อพ่อแม่พามาฝากตัวอยู่ในวง สุนทราภรณ์ รวงทองอายุน้อยกว่าครูชอุ่มเกือบ 16 ปี เพิ่งมีโอกาสได้พูดคุยกับ “พี่อุ่ม” เมื่อมีโอกาสขอตามพูลศรี เจริญพงศ์ ไปเที่ยวบางแสน โดยต้องอ้อนวอนขออนุญาตอยู่นาน ทีแรกยายจะไม่ให้ไปเพราะต้องไป “ค้างคืน” ด้วย

รวงทองเล่าไว้ในหนังสือ “อนุทิน ชีวิตและเพลงของข้าพเจ้ารวงทอง ทองลั่นธม” ว่า “ที่ชายหาดบางแสนนี้เอง ดิฉันได้พูดคุยกับชอุ่ม ปัญจพรรด์ เป็นเวลานาน เหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะเวลาที่ดนตรีบรรเลงอยู่ ดิฉันปูเสื่อที่นั่งเล่นอยู่ริมทะเล พี่ชอุ่มก็ร่วมไปเที่ยวในคณะด้วย เพราะพี่ชอุ่มกับครอบครัวคุณเอื้อ คุ้นเคยกันมาก มีเวลาก็มานั่งพักคุยกัน พี่ชอุ่ม สัญญาว่า จะแต่งเพลงให้ดิฉันร้องที่นี้เอง… วันแห่งสัญญาก็มิได้เปลี่ยนแปลงไปเลย … วันนี้คงจะเป็นวันดีมีโชคมาอำนวย เธอจึงนำเนื้อเพลงมามอบให้คุณเอื้อและบอกว่า แต่งให้ดิฉันร้อง ดิฉันอ่านดูแล้วรู้สึกเศร้ามาก ทำนองก็แสนเยือกเย็น เป็นเพลงไทยเดิมชื่อเพลง ‘บังใบ’ ”

ชอุ่ม ปัญจพรรด์ เล่าไว้ในหนังสือ “คอนเสิร์ต 82 ปี ชอุ่ม ปัญจพรรด์” ว่า “เพลงรักบังใบ แต่งท่ามกลางแดดเปรี้ยงที่บ่อเลี้ยงปลาที่อ้อมน้อย ขณะที่นั่งอยู่ใต้กะแอ (ไม้ปักมีแผงเล็กๆ บังแดด) ฮัมทำนองเพลงบังใบที่เคยร้องได้อยู่แล้ว แล้วใส่เนื้อร้องลงไปเป็นวรรคๆ ตอนนั้น รวงทอง ทองลั่นธม กำลังจะร้องเพลงเวทีเป็นครั้งแรกที่ศาลาเฉลิมกรุง เลยพยายามใส่เนื้อเพลงให้เป็นพิเศษ คิดหาคำตอนท้ายๆ เพลงให้ซาบซึ้งใจคนฟัง ก็คิดไม่ออก จนเห็นตะวันตกดิน เกิดความเศร้า พลันคำว่า ‘น้ำตา ตกตามตะวัน’ ก็แวบขึ้นมาทันที และเป็นคำที่พอใจมาก…” (เล่ม 6 หน้า 158)

วรรคท้ายๆ ของเพลงนี้จึงจบลงที่ “น้ำตาตกตามตะวัน นึกแล้วหวั่น พรั่นใจ อกเอ๋ย ทำฉันใด เล่าเอย ; คู่ชื่นเคยเชย รักร้างเลย แรมรา ยิ่งพาให้หนาวไฉน ; ปองรักอย่างบัวบังใบ ต้องช้ำหัวใจเรื่อยมา”

ตำนานเพลงนี้ จึงต่างกันตามความทรงจำในวัยชราของหลายๆ คน ครูชอุ่ม เขียนว่า “อาเอื้อให้พี่แต่งเพลงบังใบ ให้ “ไอ้ก้อน” ร้อง พี่ก็เอาไปแต่งที่สวนอ้อมน้อยของอาเอื้อ”

ไอ้ก้อน คือ ชื่อเล่นที่คนในบ้านครูเอื้อเรียกรวงทอง ซึ่งชื่อเดิมคือ “ทองก้อน” ส่วนรวงทองเล่าว่าเพลงนี้ครูชอุ่ม “นำเนื้อเพลงมามอบให้คุณเอื้อ และบอกว่าแต่งให้ดิฉันร้อง”

ครูชอุ่มเล่าว่าแต่งเพลงนี้เพราะตอนนั้น “รวงทอง ทองลั่นธม กำลังจะร้องเพลงเวทีเป็นครั้งแรกที่ศาลาเฉลิมกรุง” แต่ครูเอื้อบอกว่าเพลงนี้รวงทอง “ร้องส่งวิทยุกระจายเสียง …” ที่กรมประชาสัมพันธ์

ข้อมูลเช่นนี้ในทางวิชาการให้ “ตรวจสอบสามเส้า” (Triangulation) ก็จะกลายเป็นเรื่องเคร่งเครียด แต่จะเป็นเรื่องสนุกเมื่อเป็น “ตำนาน”

*********************

Exit mobile version