Site icon เว็บไซต์บางแสน

ชู ร.ร.บ้านนาม่วง ต้นแบบโรงเรียนคำสอนพ่อ

163047073943

วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2565

เครือข่ายงดเหล้า สพฐ. สสส. ชูโรงเรียนบ้านนาม่วง ใช้แนวทาง “ให้ครูรักเด็ก ให้เด็กรักครู” จุดเริ่มต้นสร้างภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยงเหล้าบุหรี่ ยาเสพติด การพนัน หวังเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจขยายผลจากโรงเรียนคำพ่อสอนต้นแบบ

  ที่โรงเรียนบ้านนาม่วง ตำบลบ้านโหนด อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา  ดร.บรรเจอดพร สู่แสนสุข รอง ผอ.สำนักนวัตกรรมการศึกษา สพฐ. พร้อมด้วย คณะทำงานโครงการโรงเรียนคำพ่อสอน  โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า โครงการโรงเรียนคำพ่อสอน จะเน้นการน้อมนำแนวคิดการศึกษาของรัชกาลที่ 9 ว่า ให้ครูรักเด็ก ให้เด็กรักครู มาเป็นหลักในการออกแบบการเรียนรู้ เพื่อให้ครูและนักเรียนมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เช่น กิจกรรมเปิดเทอมสร้างสุขให้ความรักก่อนให้ความรู้ การปรับแนวคิดครูให้เข้าใจจิตวิทยา นีโอฮิวแมนนิส ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตามวัย การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับคลื่นสมอง การใช้พลังบวกชื่นชม ทำให้ครูมีทักษะในการสร้างการเรียนรู้ให้เด็กที่หลากหลายตามสภาพนักเรียนแต่ละคน

  นายธีระ วัชรปราณี ผจก.สำนักงานเครือข่ายงดเหล้า กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายป้องกันปัจจัยเสี่ยงสุขภาพในเด็กเยาวชนเรื่องแอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเสพติด การพนัน ซึ่งได้ค้นพบว่าจะต้องบูรณาการการแก้ปัญหานี้เข้ากับระบบการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปพร้อมกับการเรียนการสอน จึงเน้นอบรมครูและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายครู เพื่อเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมของครูก่อน แล้วครูจะนำเอาหลักการกิจกรรมตามแนวทางโรงเรียนคำพ่อสอนไปประยุกต์ใช้ เช่น กิจกรรมอะไรซ่อนอยู่ในขวด พิษร้ายควัน ซึ่งจะปลูกจิตสำนึกให้เด็กตระหนักในพิษภัยจริงๆ อีกทั้งกิจกรรมท่องความดี กิจกรรมเช็คศีล ก็เป็นพลังเชิงบวกที่เด็กๆถูกฝึกให้ทำเป็นกิจวัตร ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง และในปีนี้ โครงการได้นำเอาหลักทศพิธราชธรรม 10 ประการ ที่เป็นหลักธรรมสำหรับทุกคนในยุควิกฤต และการสร้างคลังอาหารด้วยโคกหนองนาโมเดล เพื่อการพึ่งตนเองในพื้นที่

 ด้านนายบุญนำ  หมีนยะลา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาม่วง กล่าวว่า โครงการนี้บุกเบิกโดยคุณครูชดาษา จันพรมทอง หรือครูซาร่า ในช่วงปี 2560 ใช้เวลาประมาณ 4 ปี ที่ทำให้โรงเรียนที่กำลังจะถูกยุบ เป็นโรงเรียนต้นแบบได้ ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนจากวัด และชุมชน เช่น กิจกรรมปลูกข้าว ที่ชาวบ้านให้ยืมที่นา โรงเรียนใช้สร้างการเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น สอนวิถีชีวิต ความอดทน วิธีการทำมาหากิน อีกทั้งเป็นแหล่งอาหารของโรงเรียนในภาวะโควิด โดยครูชดาษา กล่าวว่า ตอนเริ่มงานครั้งแรก ตัวเองได้รับรางวัลครูดีไม่มีอบายมุขก่อน จากนั้น ก็ขอสมัครเข้าร่วมโครงการโรงเรียนคำพ่อสอน ได้ไปเข้าร่วมอบรมหลักสูตรจิตวิทยานีโอฮิวแมนนิส และกิจกรรมตามคู่มือโรงเรียนคำพ่อสอน สิ่งที่น่าเศร้าคือ ก่อนที่ครูจะเริ่มทำโครงการนี้ มีเด็กในชุมชนที่ออกจากโรงเรียนแล้วไปติดยาเสพติด เราเข้ามาทำช้าไป เพราะโครงการนี้จะสนับสนุนให้ครูปรับตัวเอง เริ่มที่ตัวเองที่จะมีความสุขในชีวิตได้อย่างไรก่อน จากนั้นเมื่อได้ทดลองทำกระบวนการพาเด็กนอนพักปรับคลื่นสมอง หรือการกอด สัมผัส การกล่าวชื่นชมเชิงบวก ทั้งครูในโรงเรียน และผู้ปกครองก็แปลกใจไม่เข้าใจ แต่ตนเองทำด้วยความอดทนและตั้งใจเพราะตัวเราเองเข้าใจในหลักการของโรงเรียนคำพ่อสอน เราไม่ได้ทำเพราะจะต้องบรรลุตัวชี้วัด โดยเฉพาะคำว่า “ให้ครูรักเด็ก ให้เด็กรักครู” เป็นแกนหลักในการออกแบบการเรียนรู้ ครูชดาษา ย้ำว่า ให้ครูรักเด็กให้เด็กรักครู ไม่ได้หมายถึงสปอยตามใจเด็ก แต่เป็นการเสริมพลังทางบวก เห็นจุดแข็งของเด็ก และสร้างสัมพันธ์ให้เกิดความไว้วางใจ ทำให้เด็กเห็นคุณค่าตนเอง รักตัวเองและสามารถเลือกใช้ชีวิตที่ไม่เสี่ยงได้เมื่อจบการศึกษาออกไปแล้ว (ช่วงโควิดเว้นระยะห่างเว้นกิจกรรมกอดสัมผัส)

Exit mobile version