บางแสน ชลบุรี

ชัยภูมิจังหวัดแสนสุข ขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย thaihealth

ชัยภูมิจังหวัดแสนสุข ขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย – สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ที่มาและภาพประกอบ :   เว็บไซต์แนวหน้าออนไลน์

ชัยภูมิจังหวัดแสนสุข ขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย thaihealth

ย้อนไปเมื่อปี 2556 มีข่าวเล็กๆที่น่าสนใจคือ “อันดับจังหวัดที่ผู้คนมีความสุขที่สุด” ซึ่งเป็นผลสำรวจของ ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) พบว่า 3 อันดับแรกประกอบด้วย1.แม่ฮ่องสอน 2.พังงา และ 3.ชัยภูมิ ขณะที่ 3 จังหวัดรั้งท้ายคือ 77.กรุงเทพฯ 76.สมุทรปราการ และ 75.ภูเก็ต ซึ่ง “ปัจจัยร่วม” ของจังหวัดที่ได้อันดับต้นๆ ด้านความสุข ประกอบด้วย 1.สิ่งแวดล้อมดี ยังมีความเป็นธรรมชาติ 2.สังคมอบอุ่น มีความสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัวและชุมชน ผู้คนมีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 3.มีความปลอดภัย สถิติการเกิดอาชญากรรมต่ำ เป็นต้น

สำหรับ “ชัยภูมิ” แม้จะผ่านมาหลายปีจากการจัดอันดับข้างต้น รวมถึงมีผู้ว่าราชการจังหวัดมารับตำแหน่งหลายท่าน แต่ประเด็นความสุขนี้ถูกให้ความสำคัญและได้รับการสานต่อสืบมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่ง กรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า แม้จะมีผลสำรวจจากตัวชี้วัดดังกล่าว แต่ก็ยังมีสิ่งที่ขาดและเป็นวาระเร่งด่วนของจังหวัด คือการลดอ้วน ลดพุง ลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็น “อาหารปลอดภัย” สืบเนื่องจากพบว่าชาวบ้านยังรับประทานอาหารที่มีสารเคมี และยังทำการเกษตรแบบใช้สารเคมีอยู่มาก อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ยังมีโครงการ “โรงเรียนสุขภาวะ” ที่ทางโรงเรียนดำเนินการร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีการให้ความรู้ เช่น ส่งเสริมให้ออกกำลังกาย สอนให้ปลูกผักปลอดสารพิษ

รวมไปถึงให้นักเรียนไปชักชวนผู้ปกครองปลูกมาร่วมปลูกผักปลอดสารพิษไว้ที่บ้านด้วย เพื่อเด็กจะได้ทานอาหารปลอดภัยเมื่อกลับไปทานที่บ้าน จึงมั่นใจได้ว่า โครงการอาหารกลางวันของนักเรียนในโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนสุขภาวะนั้น ได้มีการจัดการเมนูอาหารโดยนำผักปลอดสารเคมีมาปรุงเป็นอาหาร ดังนั้นเด็กที่รับประทานจึงไม่มีปัญหา เพราะได้รับสารอาหารตามหลักโภชนาการครบถ้วน เป็นอาหารดี มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างแน่นอน

“ข้อดีของโรงเรียนสุขภาวะคือเด็กได้ทานผักปลอดสารพิษที่ปลูกจากโรงเรียน แล้วบอกต่อให้ผู้ปกครองปลูกให้ทานที่บ้าน ถ้าผู้ปกครองไม่ปลูกแล้วต้องซื้อจากตลาดก็จะไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย โรงเรียนสุขภาวะเด็กจึงได้ทานอาหารปลอดภัยทั้งโรงเรียน ลดปัญหาอาหารกลางวัน พ่อแม่ได้ปลูกผักปลอดสารเคมี เหมือนได้นำวิถีชีวิตพอเพียงกลับมาใช้ ปลูกผักกินเองปลอดภัยและลดรายจ่ายด้วย” รอง ผวจ.ชัยภูมิ กล่าว

ตัวอย่างโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนสุขภาวะ สันติ ไตรเสนีย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ามะไฟหวาน ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ เล่าว่า ที่โรงเรียนไม่เคยมีปัญหาเพราะโรงเรียนผู้ปกครอง และผู้นำท้องถิ่น ได้ให้ความสำคัญเรื่องอาหารปลอดภัยของเด็กนักเรียน ด้วยการส่งเสริมให้ทั้งนักเรียนผู้ปกครอง และผู้นำท้องถิ่น ร่วมกันปลูกผักปลอดสารพิษ เพื่อจะได้เกิดความมั่นใจและทราบที่มาของแหล่งอาหารที่นำมาทำอาหารให้เด็กทานในโรงเรียนว่า เด็กได้รับประทานอาหารดี มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

“หลังเข้าร่วมโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาวะ ทางโรงเรียนได้สอนให้ได้เด็กปลูกผักปลอดสารพิษ แล้วก็สร้างความร่วมมือกับผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน ส่งเสริมให้เขาปลูกผักปลอดสารพิษ เพื่อมาสนับสนุนอาหารกลางวันของโรงเรียนด้วย กรณีแปลงอาหารกลางวันของโรงเรียนไม่เพียงพอ ก็ยังมั่นใจได้ว่ามีแปลงผักปลอดภัยของผู้ปกครองอีก 200 กว่าคนที่ปลูกไว้ ซึ่งสามารถนำมาขายให้โรงเรียนได้ ที่นี่จึงไม่มีปัญหาเรื่องอาหารกลางวันและอาหารที่เด็กทานก็ปลอดภัย มีคุณภาพ” ผอ.รร.บ้านท่ามะไฟหวาน ระบุ

ขณะที่ ดวงใจ วิชัย ประธานสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ในฐานะผู้ดำเนิน “โครงการพัฒนาชุมชนส่งเสริมอาหารเพื่อสุขภาพหุบเขาภูแลนคา จ.ชัยภูมิ” อีกโครงการหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนโครงการอาหารปลอดภัยไปสู่โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก เพื่อให้เกิดเป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาวะ หลังได้รับโจทย์ส่งเสริมเด็กให้บริโภคผักและผลไม้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน หรือ 4 ขีดต่อวัน จึงได้ทำงานร่วมกับโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ร้านอาหาร และมหาวิทยาลัย ด้วยการเข้าไปส่งเสริมให้เด็กรับประทานผักและผลไม้ปลอดสารพิษ ส่งเสริมให้ปลูกผักผลไม้ปลอดสารพิษในโรงเรียน บ้าน และส่งเสริมให้เด็กต้องออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ซึ่งผู้บริหารและครูทั้งที่โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต่างให้ความสำคัญอย่างมาก เกิดแผนพัฒนาโดยขับเคลื่อนผ่านครูอนามัยของโรงเรียน ผ่านครูประจำชั้นแล้วเชื่อมโยงไปสู่ผู้ปกครอง

“ผู้ปกครองเจอกับครูทุกวัน และครูต้องตามไปดูเด็กที่บ้าน จึงเป็นโอกาสดีที่จะดูว่า ผู้ปกครองปลูกผักอย่างยั่งยืนหรือไม่ ในเมื่อเด็กได้ทานอาหารปลอดภัยจากโรงเรียนแล้ว อีกสองมื้อที่ทานจากบ้านก็อยากให้เด็กได้ทานอาหารปลอดภัยด้วย การทำงานดังกล่าวทำให้เกิดการเชื่อมโยงออกไปสู่ท้องถิ่น เช่น อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) เพราะเป็น

หน่วยงานหนึ่งที่จัดสรรงบประมาณอาหารกลางวันให้โรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เมื่อ อบต. ให้ความสำคัญจึงเดินไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด” อาจารย์ดวงใจ กล่าว

ปธ.สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มรภ.ชัยภูมิ ยังกล่าวอีกว่า “ผลดีที่เกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะกับเด็กๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ปกครองด้วย” เพราะผู้ปกครองได้รับประทานผักปลอดสารพิษ และได้ออกกำลังกายพร้อมไปกับบุตรหลาน จึงตอบโจทย์และสอดคล้องกับนโยบายของจังหวัดที่ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคอาหารปลอดภัย และนโยบายลดพุง ลดโรค

บทสรุปจากเรื่องนี้..การขับเคลื่อนโรงเรียนสุขภาวะ “การส่งเสริมอาหารปลอดภัยในโรงเรียนและชุมชน โดยให้ความสำคัญแก่เด็ก มีเด็กเป็นจุดศูนย์กลางของความเชื่อมโยง” เพื่อเป้าหมายที่เด็กต้องได้รับประทานอาหารที่ดี ถูกหลักโภชนาการ พร้อมกับปลูกฝังเลือกอาหารปลอดสารเคมีตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อโตไปจะได้เข้าใจและหลีกเลี่ยงใช้สารเคมีในการปลูกพืชผักในอนาคต

หากทำได้อย่างนี้ต่อเนื่อง..เชื่อเหลือเกินว่า “ชัยภูมิ” คงจะยังเป็น “จังหวัดแห่งความสุข” อันดับต้นๆ ของประเทศไทยไปอีกนานแสนนาน

เรื่องล่าสุด