Site icon เว็บไซต์บางแสน

คอลัมน์การเมือง – โค้งสุดท้าย

คอลัมน์การเมือง – โค้งสุดท้าย

ศึกซักฟอกรอบสุดท้ายที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นการร่วมประชุมกันแบบไม่ลงมติ จึงดูแล้วไม่น่าจะมีผลโดยตรงต่อเสถียรภาพของทางรัฐบาลมากนัก แต่ด้วยความที่การประชุมสภาฯ ก็ได้เดินทางมาถึงช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่จะปิดสมัยการประชุมในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ จึงเป็นโอกาสสุดท้ายของฝ่ายค้านเช่นกัน ที่จะมีโอกาสในการทำลายความเชื่อมั่นของฝ่ายรัฐบาลรวมถึงเวทีในการหาเสียง

ด้วยปัจจัยที่การอภิปรายไม่มีการลงมติจึงไม่มีผลต่อการปรับครม.เสียงโหวตและสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นค่าตัวสส.อาจไม่มีผลเท่าใดนัก ด้วยปัจจัยที่จะจบสมัยการตรวจสอบจึงไม่เข้มข้นเท่าการหาเสียงขายนโยบาย ด้วยปัจจัยจำนวนสส.ในสภาที่ลดลงสุ่มเสี่ยงต่อการเล่นเกมนับเสียงโหวต ด้วยปัจจัย สส. ที่นั่งอยู่แต่ละพรรคแต่ใจตอนนี้อาจไม่ได้นั่งอยู่พรรคนั้นแล้ว และด้วยที่ใครๆก็เดาว่าอาจจะมีการยุบสภาก่อนหมดสมัยจึงทำให้สส.อาจย้ายพรรคได้อยู่

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้การอภิปรายรอบนี้จึงไม่เหมือนครั้งก่อนๆ ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา ทั้งสิ่งที่พูด หรือแม้แต่เป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม ก่อนอภิปรายไม่กี่วันก็มีกระแสข่าวที่น่าสนใจว่า มีแกนนำของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งซึ่งคาดกันว่าอาจเป็นหนึ่งในสมาชิกของพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่? หวังล้มศึกซักฟอกในครั้งนี้ โดยไปเจรจากับบรรดาผู้แทนจากสังกัดต่างๆ ไม่ให้เซ็นชื่อเข้าร่วมการประชุม แม้สุดท้ายจะไม่เป็นผลเพราะสภาก็สามารถเปิดประชุมได้อยู่ดี ซึ่งทำให้เห็นว่าในช่วงท้ายเกมแบบนี้ ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล ก็อาจจะต้องพรรคใครพรรคมัน?

ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไร แต่หนึ่งในพรรคร่วมฯ อย่าง ประชาธิปัตย์ ก็ออกมาบอกพร้อมที่จะเข้าร่วมการประชุม ในการอภิปรายทั่วไปอย่างแน่นอน ซึ่งเมื่อการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวของตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ออกมา ก็ยิ่งทำให้ข่าวลือก่อนหน้าดูมีมูลมากขึ้น?

ขณะที่หากว่ากันตามตรงช่องโหว่ที่ฝ่ายค้านอาจเล็งเห็น และอาจใช้เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้สำหรับโจมตีความเชื่อมั่นของรัฐบาล ก็ดูจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับพรรคประชาธิปัตย์เท่าไหร่นัก ทั้งในเรื่องการบริหารงานราชการแผ่นดินที่ฝ่ายค้านอาจตั้งคำถามว่าผิดพลาดหรือไม่? ทั้งปัญหาทุนจีน ปัญหายาเสพติด ทหาร ตำรวจ รวมถึงหนึ่งในปัญหาสำคัญอย่างเศรษฐกิจของประเทศ

การออกตัวของประชาธิปัตย์นั้น ดูจะเป็นเช่นนี้มาตลอดสมัย ซึ่งอาจมองได้ว่าแตกต่างแต่ไม่แปลกใจนัก ทั้งด้วยความที่เป็นพรรคใหญ่มาก่อนและการที่มีตำแหน่งประธานสภา ที่พอจะสามารถคุมเกมสภาได้ในระดับหนึ่งแม้มีคะแนนเสียงเป็นลำดับรองในพรรคร่วมก็ตาม นี่จึงเป็นรอบสุดท้ายในสมัยสภานี้เช่นกันที่ประชาธิปัตย์จะใช้เครื่องมือกลไกสภา ทั้งการที่ไม่ใช่เป้าพรรคหลักที่จะโดนโจมตีและการคุมเกมการเมือง ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์วิกฤตเลือดไหลออกจำนวนมากและยังคงไหลอยู่จนถึงวันอภิปรายก็ตาม

เพราะทั้งพรรค และสส.รายบุคคลทราบดีว่า เมื่อศึกซักฟอกได้ผ่านไป พรรคการเมืองทุกสังกัดก็น่าจะมุ่งตรงสู่เส้นทางของการเลือกตั้ง ซึ่งสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นก่อนก็คือ การนับถอยหลังวันประกาศยุบสภาฯ ที่คาดว่าจะเกิดในต้นเดือนมีนาคม ซึ่งจะมีสิ่งสำคัญเกิดขึ้นในช่วงนี้คือ การชิงนำเสนอชุดนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และการย้ายพรรครอบสุดท้าย?

จึงเกิดการผูกเรื่องการหาเสียงโยงไว้ในการอภิปราย เพื่อให้เป็นเวทีชิงนำเสนอนโยบายก่อน

ที่ผ่านมาเศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาเป็นระยะเวลานานรวมถึงไทย และแม้หลังจากการเปิดประเทศเมื่อปลายปีที่แล้ว มีผลให้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว จากการที่การท่องเที่ยวเริ่มมีทิศทางกลับมาในทางที่ดีขึ้น ก็ตามแต่ด้วยเพราะกำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ทุกพรรคจึงชูนโยบายฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับการกลับมาของนโยบายประชานิยมที่ยุคหนึ่งนโยบายประชานิยมทำให้รัฐต้องแบกหนี้สาธารณะไว้มาก ก่อนจะมีแนวนโยบายในการควบคุมการใช้งบประมาณ เพื่อให้การดำเนินนโยบายประชานิยมหรือนโยบายของรัฐเป็นไปอย่างบรรลุเป้าหมายช่วยประชาชนได้จริงแต่ไม่สร้างความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจ

อันที่จริงการดำเนินนโยบายประชานิยม หากควบคุมและวางแผนอย่างถูกต้อง อาจเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในช่วงเวลาต่างๆ อย่างในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา หากแต่ตอนนี้สภาพและปัจจัยทางเศรษฐกิจก็เอื้อต่อการที่จะใช้เครื่องมือและกลไกปกติในระบบให้ดำเนินการได้เองแล้ว ก็ควรปล่อยให้กลไกทางเศรษฐกิจดำเนินการเป็นหลักโดยรัฐอาจช่วยเหลือหรือประคองบางส่วนต่อไป

แต่ด้วยความที่จะมีการหาเสียงเลือกตั้งสิ่งที่น่ากังวลหลังจากนี้คือการประกาศนโยบายประชานิยมแบบสุดโต่งของแต่ละพรรค เพื่อดึงคะแนนนิยมมากกว่าความเป็นไปได้ในทางเศรษฐกิจและผลกระทบ

ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาพรรคการเมืองได้นำเสนอชุดนโยบายผ่านสื่อ และใช้เวทีอภิปรายเมื่อวันก่อนนำเสนอนโยบายมาบ้างแล้ว พรรครวมไทยสร้างชาติก็เตรียมแถลงชุดนโยบายในอีกไม่กี่วันนี้ และน่าจะเข้าสู่การต่อสู้ด้านนโยบายหาเสียงครั้งแรกของพลเอกประยุทธ์ในฐานะนักการเมืองเต็มตัว

เชื่อว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยก็กำลังรอที่จะชมวิสัยทัศน์ พร้อมทั้งนโยบายของพลเอกประยุทธ์และพรรครวมไทยสร้างชาติว่าจะออกมาในรูปแบบใด เพราะในขณะนี้พรรคการเมืองสังกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคน้อยหรือพรรคใหญ่ ก็เริ่มมีการประกาศนโยบายอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อย เว้นแต่พรรครวมไทยสร้างชาติเพียงพรรคเดียวซึ่งในเรื่องนี้นายพีระพันธุ์ ในฐานะของหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ได้ออกมาเผยว่าพลเอกประยุทธ์แสดงความเป็นห่วงถึงนโยบาย ว่าจะกระทบกับงบประมาณหรือไม่? ซึ่งพรรครวมไทยสร้างชาติจะคำนึงถึงจุดนี้ให้มาก และนี่อาจจะเป็นจุดต่างของการนำเสนอชุดนโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติกับพรรคอื่น

จับตาไปที่การจัดทัพสู้ศึกเลือกตั้งของแต่ละพรรค ที่น่าจะลงตัวแค่แม่ทัพ ส่วนขุนพลในแต่ละทัพยังเคลื่อนไหว ถ่ายเทยังไม่จบ แต่หลังจากวันนี้จะได้เห็นการประกาศย้ายพรรคและเปิดตัวของแต่ละคน ในขณะที่พรรคใหม่อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติที่ถูกมองว่าเป็นการถอดร่างโครงสร้างเหมือนตอนตั้งพรรคพลังประชารัฐใหม่ๆ นั้น ล่าสุดก็ได้จัดแบ่งแม่ทัพแต่ละสายแล้วคือนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ที่รับผิดชอบในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯนายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯที่รับผิดชอบดูแลในส่วนของภาคใต้ ส่วนในพื้นที่ภาคเหนือนั้นเป็นพื้นที่ความรับผิดชอบของนายหิมาลัย ผิวพรรณ และนายชัชวาลล์ คงอุดม เวทีภาคอีสานนำทัพโดยคนใต้อย่างนายวิทยา แก้วภราดัย แต่หนึ่งในขุนพลนั้นปรากฏชื่อของนายเสกสกล หรือที่รู้จักกันในนามแรมโบ้อีสาน เป็นผู้รับผิดชอบดูแลในแถบภาคอีสานอีกด้วย ซึ่งก็น่าสนใจไม่น้อยว่า นายแรมโบ้อีสานผู้เคยเป็นหนึ่งในแกนนำนปช. จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้แค่ไหน?

เพราะในพื้นที่อีสานถือว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่การแข่งขันที่หินที่สุด อาจเพราะนอกจากจะเป็นการเบิกร่องในพื้นที่ของรวมไทยสร้างชาติแล้ว คู่แข่งโดยตรงในพื้นที่ก็ยังมีรายชื่อของ พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย สองคู่แข่งสุดหิน เป็นประตูด่านที่สำคัญ นอกจากนี้พรรคพลังประชารัฐ เองก็ยังมีข่าวซุ่มเดินเก็บสส.อยู่ จึงไม่น่าจะเป็นพื้นที่แลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยง่ายๆ อย่างที่คิด

นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าปรากฏชื่อของ นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบในพื้นที่ภาคตะวันออกและตะวันตก ร่วมกับ นายสุชาติ ชมกลิ่น บ้านใหญ่อีกบ้านของเมืองชล ซึ่งงานนี้นายสุชาติน่าจะต้องแบกความกดดันที่ไม่น้อย เพราะในสนามการประลองพื้นที่ภาคตะวันออกนั้น นายสุชาติต้องท้าประลอง แข่งขันกับบ้านใหญ่บางแสน ที่ถือได้ว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมมาช้านานที่ตอนนี้บ้านใหญ่บางแสนได้ประกาศย้ายไปลงบ้านเก่าเพื่อไทยแล้ว งานนี้คงพิสูจน์กันแล้วว่าใครจะเป็นเจ้าพื้นที่แห่งชลบุรีตัวจริง ศึกบ้านใหญ่ กับ บ้านใหญ่บ้านใหม่ อีกไม่นานนี้รู้กัน แต่ก็เพิ่งเกิดเกมพลิกในนาทีสุดท้ายที่ล่าสุดมีข่าวอิทธิพล คุณปลื้ม อาจย้ายเข้าซบรวมไทยสร้างชาติ งานนี้จะจริงหรือไม่ หากจริงภาคตะวันออกรอบนี้น่าจะเดือดกว่าทุกครั้ง

ซึ่งเมื่อมีการประกาศการวางตัวผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่แล้ว คาดว่าภายในไม่กี่วันนี้เอง พรรครวมไทยสร้างชาติ อาจมีการประชุมเพื่อสรุปภาพรวมของผู้สมัคร และหากไม่มีอะไรผิดพลาดอย่างไรเสียพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็น่าจะส่งผู้สมัคร สส. ครบทั้ง 400 เขตเช่นเดียวกับพรรคใหญ่ทั้งหลาย?

อย่างไรก็ตามหลังจากนี้แต่ละพรรคก็น่าจะมีการขยับอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งในเชิงของยุทธวิธีและในเชิงของกองกำลังพล เพื่อรอจังหวะและโอกาส ก่อนที่วันสุดท้ายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จะเดินทางมาถึงหรือไม่?

“เมื่อเนิ่นนานมาแล้วมีปราชญ์ผู้ทรงภูมิปัญญา

ท่านหนึ่งกล่าวคำพูดที่ยากลืมเลือนตลอดกาล ท่านบอกว่า น้ำมิตรเกิดจากการสั่งสม แต่ความรักอุบัติอย่างกะทันหัน 

น้ำมิตรต้องผ่านการทดสอบของเวลา แต่ความรักมักบังเกิดในชั่วพริบตา 

ชั่วพริบตานั้นเจิดจ้าจำรัสปานใด สวยสดงดงามเพียงไหน ชั่วพริบตานั้นจะคงอยู่เป็นนิรันดร์”

โกวเล้ง จาก หงส์ผงาดฟ้า

Exit mobile version